เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือฟีโบ้ (FIBO) จัดเสวนา FIBO Talk Series ผ่านทางเฟซบุคไลฟ์เพจ FIBO AI/Robotics for All โดยจะจัดเสวนาทุกวันเสาร์เวลา 19.00-20.00 น. โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเสวนาหัวข้อ "ชวนคนไทยมารู้จักและเข้าใจ AI" กับโครงการ AI ไทยสามารถ by AI for All โดยมี ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและจิตวิทยา นักวิจัยพัฒนาการด้านสมอง กระบวนการเรียนรู้ และความจำ สถาบันการเรียนรู้ และ ดร.อัญชลิสา แต้ตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นวิทยากร
โดย ดร.อัญชลิสา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ AI ไทยสามารถ ว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ก่อนเริ่มโครงการเราได้เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์จากลุ่มตัวอย่าง 400 คนใน 4 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการธุรกิจ ว่าคนไทยเข้าใจ ได้ยิน หรือรับรู้เรื่องเอไอมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบทำให้เราประหลาดใจ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก และไม่รู้ด้วยว่าเอไอจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างไร ทั้งที่ความจริงแล้ว เอไอเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ในขณะที่กลุ่มของนักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการ จะรู้จักเกินร้อยละ 80 แต่มีบางส่วนที่รู้จักในรูปแบบของหุ่นยนต์ที่เห็นในภาพยนตร์ ทั้งที่เอไออยู่รอบตัวเราตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยเฉพาะแทบทุกคนซื้อของออนไลน์ ใช้กูเกิลแม็ป และอื่นๆ อีกมากมายผ่านสมาร์ทโฟน
ดร.อัญชลิสา ยังกล่าวถึงปัญหาอุปสรรคว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะตอบเหมือนกันว่าไม่มีการสื่อสารที่ถูกต้องจึงไม่เกิดการรับรู้และเข้าใจ เราจึงต้องทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารโดยแบ่งเป็น 3 แกนหลัก คือ 1.ไทยสบาย สำหรับสื่อสารกับกลุ่มคนทั่วไปที่เราอยากให้เขารู้ว่าเอไอ เป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถใช้มันทำให้ชีวิตง่ายและสบายสำหรับเขา 2.ไทยล้ำ สำหรับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเกิน 80 เปอร์เซ็นต์รู้จักเอไอ อยู่แล้ว ให้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลว่าเขาจะศึกษาเรื่องเอไอ หรือเรียนต่อด้านนี้จะหาจากไหน มีคณะไหนสอนบ้าง และสุดท้าย คือ 3. ไทยรวย จะสื่อสารกับพวก เอสเอ็มอี เจ้าของกิจการ ถ้าเขาจะใช้เอไอ เขาต้องทำอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยรู้จักและเข้าใจในการใช้เอไอ อย่างสมาร์ท หรือสามารถนั่นเอง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ เพื่อให้คนเข้าถึงและสนใจเอไอ คือ 1. Blast หรือการปลุกกระแส (On Line Hero VDO) สร้างสื่อให้เข้าใจง่าย ๆ โดยได้ปล่อยคลิปวีดีไอไปแล้วคือ AI ไทยสามารถ by AI For All - YouTube ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก และได้โพสต์ไปที่ KOL (Key Opinion Leader) ดัง ๆ เพื่อช่วยกันสื่อสารว่าเอไอไม่ใช่เรื่องไกลตัว เขามาทุ่นแรงไม่ได้มาแย่งงาน
"2. Blend เพื่อให้เข้าใจว่าเอไอช่วยใหชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร และเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยร่วมกับ KOL ดังๆ ในช่องทางต่างๆ รวมถึงการทำซีรีส์ และออกข่าวในรายการข่าวที่มีชมสูงสุดเราก็ทำมาแล้ว และได้รับความสนใจอย่างมาก และ 3. Built โดยการทำ Podcast เพื่อเป็นตัวกลางในการสร้างความตระหนักรู้อย่างยั่งยืน โดยร่วมกับรายการ Mission to the moon โดยได้มีการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาแลกเปลี่ยน และในอนาคตอันใกล้ เราสร้างกลุ่มในเฟซบุค เป็นกลุ่มของคนที่ไม่รู้จักเอไอ แต่สนใจเอไอ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนสอบถามแบบเป็นกันเอง เพราะที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเทคนิคมากกว่า นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะตั้งกลุ่มเพื่อพูดคุยใน Club house ด้วย และนี่คือกิจกรรมทั้งหมดในการพยายามสื่อสารให้คนไทยรู้จักเข้าใจ เพื่อใช้เอไออย่างสามารถ ขณะเดียวกัน ยังหวังว่า เราจะมีทรัพยากรมนุษย์ ที่เข้าใจด้านนี้ และมีนักเรียนที่สนใจมากขึ้นเพื่อมาช่วยกันทำโมเดลต่างๆ ถ้าเรามีคนแบบนี้มากๆ จะเป็นฐานขับเคลื่อนประเทศที่แข็งแกร่งและหากภาคธุรกิจหันมาใช้เอไอ จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้"
ด้าน ดร.ศิรวัจน์ กล่าวว่า การทำโครงการดังกล่าว นอกจากเพื่อสร้างการรับรู้แล้ว ยังสร้างความเข้าใจด้วยว่า เอไอไม่ได้เข้ามาแย่งงาน แต่เป็นการโยกย้ายคนไปทำงานในส่วนอื่นที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่า นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกในการทำงาน และช่วยส่งเสริมธุรกิจ ขณะเดียวกันเรายังเน้นเรื่องการสร้างทัศนคติที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้หันมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ เพราะในอนาคตหรือแม้แต่ในปัจจุบัน มีความต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเอไอ มากมาย เราจึงต้องมีช่องทางในการสื่อสารผ่านในหลายๆ ทาง โดยหนึ่งในช่องทางที่ดีมาก คือ เว็บไซต์ www.learn-ai.in.th ซึ่งมีการรวบรวมบทความดีๆ มีเกร็ดความรู้ง่ายๆ ในมิติต่างๆ ที่เป็นภาษาไทย นอกจากนี้ ฟีโบ้ ยังมีการสอนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสามารถสร้างโมเดลเอไอ ขึ้นมาได้ ซึ่งสามารถเรียนได้ฟรี และได้รับเกียรติบัตรภายหลังการอบรมด้วย โดยสามารถสอบถามและติดตามได้จากเว็บดังกล่าว ทั้งนี้เชื่อว่าหากเราสามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์และประชาชนคนไทย ตลอดจนผู้ประกอบการต่าง ให้สามารถรีสกิล และอัปสกิล ด้านเอไอ ก็จะเป็นฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้