"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"จี้"บิ๊กตู่"เบรกค่ารถไฟฟ้า 104 บาท

2021-02-08 15:40:59

"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"จี้"บิ๊กตู่"เบรกค่ารถไฟฟ้า 104 บาท

Advertisement

"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" รวมตัวยื่นหนังสือจี้ "นายกฯ" เบรกขึ้นค่ารถไฟฟ้า "สายสีเขียว" 104 บาท

สาวร้อง ปอท.เสียท่า"มิจฉาชีพ"ตุ๋นปลด"บัตรเครดิต"

ล่า! “ไอ้โหม่ง โรงช้าง” ยิงตำรวจดับคาปั๊ม
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. จากกรณี กรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ประกาศปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) ราคาสูงสุดไม่เกิน 104 บาท เป็นการชั่วคราว โดยจะเริ่มขึ้นค่าบริการตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.นี้เป็นต้นไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค พร้อมด้วย นางกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ นางสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือคัดค้านดังกล่าว


โดยตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นการออกประกาศโดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านจากกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ และองค์กรผู้บริโภคถึงประเด็นความไม่โปร่งใส ขัดต่อกฎหมาย และไม่เปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ค่าโดยสารที่แพงเกินไปจะกลายเป็นภาระของผู้บริโภค อีกทั้งยังเร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้กับภาคเอกชนทั้งๆ ที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี ถือเป็นสร้างภาระผูกพันต่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานถึง 39 ปี อีกทั้งการประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร โดยไม่รอผลการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี ยังเข้าข่ายเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย.2561 ที่ให้กรุงเทพมหานคร คำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และกำหนดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค รวมทั้งยังขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 96 ที่กำหนดให้การอนุมัติขึ้นราคา ต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งชะลอแผนการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยทันที และให้กรุงเทพมหานคร หยุดการเรียกเก็บค่าโดยสารในวันที่ 16 ก.พ.นี้ออกไปก่อน เพื่อดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการขนส่งมวลชนได้รับการพัฒนา และประชาชนสามารถใช้บริการจากราคาที่ถูกลงในวิกฤตมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน 2.ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และภาคประชาชนที่ได้ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัย จากการดำเนินการของรัฐ ตามมาตรา 58 และมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก่อนที่คณะรัฐมนตรี จะมีมติให้ความเห็นชอบ


3.ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคต เพื่อศึกษาผลกระทบและกำหนดแนวทางให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องราคากับผู้บริโภค เพราะจะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้าที่เป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับคนทุกคนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย พัฒนาระบบตั๋วร่วมและระบบการเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ 4.ขอให้กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้บริการได้ 5.ขอให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ไม่ใช่บริการทางเลือกของผู้บริโภค