ค้นพบ “แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส” สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก (คลิป)

2021-02-06 10:00:23

ค้นพบ  “แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส” สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก  (คลิป)

Advertisement

นักวิจัย ม.อ. ค้นพบ “แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส” สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในสกุลแมลงวันขายาว โดยถูกพบเพียงแห่งเดียวที่ป่าชายเลนใน ต.ตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล ขนาดลำตัว 1-7 มิลลิเมตร สวมบทบาทเป็นผู้ล่าในระบบนิเวศป่าชายเลน กินทั้งลูกน้ำและริ้นน้ำเค็ม แต่ไม่กระทบต่อคนหรือสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ควบคุมสมดุล และเป็นดัชนีชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลน

ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทาง ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานของแมลงวันขายาว และแมลงวันเหาค้างคาว พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ ได้เปิดเผยถึงเรื่องราวการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในสกุลแมลงวันขายาว นั่นคือ แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส

จิบกาแฟ แลวิว 360 องศา @ ท่ามะปรางพาราไดซ์ (คลิป)

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี งดจัดงาน “นมัสการพระธาตุพนม”

อธิบดีกรมอนามัยชี้ "น้ำประปาเค็ม" อย่าตระหนกเตือนกลุ่มเสี่ยงระวัง



ดร.อับดุลเลาะ เปิดเผยว่า แมลงวันขายาวชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกจากหน่วยวิจัยป่าชายเลนตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งในขณะนั้นตนกำลังทำงานวิจัยอยู่ในระดับปริญญาเอก ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และทีมจากประเทศเบลเยี่ยม โดยค้นพบเมื่อปี 2014 จนกระทั่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี 2015

แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส เป็นแมลงวันขายาวขนาดใหญ่ สามารถพบได้ในป่าชายเลน โดยเฉพาะป่าชายเลนที่ติดกับทะเลเปิด หรือคลองป่าชายเลนชั้นในที่มีพื้นที่ดินเลนกว้าง และในช่วงเวลาที่น้ำทะเลลดลงสูงสุด รวมทั้งสภาพน้ำที่เป็นน้ำเค็มและน้ำกร่อย ซึ่งขณะนี้พบได้เพียงที่ป่าชายเลนตำมะลัง แห่งเดียวเท่านั้น



สำหรับชื่อที่ตั้งเอาไว้นั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาส ศตสุข อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักของนักวิจัยในขณะนั้น และปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่ง ผอ.พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ ม.อ. และ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดร.อับดุลเลาะ เปิดเผยอีกว่า สำหรับลักษณะเด่นของแมลงวันขายาวชนิดนี้คือ ลำตัวมีสีเขียวอมทอง มีความยาวลำตัวประมาณ 7 มิลลิเมตร มีปล้องหนวดหนาและใหญ่ ในส่วนของ dorsal surstylus (ds) หรือส่วนที่ยื่นออกจากทางด้านล่างของส่วนสืบพันธุ์เพศผู้มีลักษณะคล้ายรองเท้าบู๊ต โดยตัวเล็กสุดจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิเมตร และใหญ่สุดที่พบราว 6-7 มิลลิเมตร

นอกจากนั้นแมลงวันขายาวชนิดนี้ยังมีบทบาทเป็นแมลงวันนักล่าในระบบนิเวศป่าชายเลน เนื่องจากมันจะกินสิ่งมีชีวิตจำพวกลูกน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของยุง และตัวอ่อนของริ้นน้ำเค็มที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวควบคุมสมดุลของระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ และจำนวนแมลงวันขายาวชนิดนี้ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย ก็จะไม่ทำอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อคนหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ

ดร.อับดุลเลาะ กล่าวด้วยว่า แมลงวันขายาวชนิดนี้จะสามารถพบได้เฉพาะถิ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยจำเพาะ และเป็นดัชนีชี้วัดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหากป่าชายเลนยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ก็จะยังพบแมลงวันขายาวชนิดนี้ต่อไป แต่หากถูกรบกวนโดยคนที่ไปบุกรุก หรือทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าชายเลนตามธรรมชาติ ทั้งอุณหภูมิ หรือความร้อนของดินเลน ก็จะสามารถสังเกตได้จากแมลงวันขายาวชนิดนี้ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลง หรือสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์รับมือ หรือแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนได้



ทั้งนี้ในส่วนของแมลงวันขายาวถูกพบทั่วโลกมากกว่า 7,000 ชนิด และในประเทศไทยพบมากว่า 80 ชนิด ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหลากหลายชนิดมากเป็นอันดับที่ 4 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด โดยผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยจะเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. เป็นต้นไป วันละ 4 รอบ รอบละ 50 คน ติดตามรายละเอียดได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum”