สมาชิกรัฐสภาถกเดือดปมลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3

2021-03-17 15:00:38

สมาชิกรัฐสภาถกเดือดปมลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3

Advertisement

ที่ประชุมรัฐสภาถกเดือด "รัฐบาล-ส.ว."ประสานเสียงโหวตร่างแก้ไข รธน.วาระ 3 ไม่ได้ ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ส่วนฝ่ายค้านยันต้องลงมติวาระ 3  ขณะที่ "จุรินทร์"เสนอส่งศาล รธน.วินิจฉัยอีกครั้ง

ดาราหนุ่มฮอตกร้าวใจสมัย 90 เจอคุณนายสายเปย์จ่าย 3 ล้าน สั่งขึ้นเครื่องไปหายังต่างแดน

สาวโพสต์ขอเป็นสะพานบุญช่วย ด.ญ.ตาสีฟ้าพูดไม่ได้

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 17 มี.ค.  ที่รัฐสภา  มีการประชุมรัฐสภา (สมัยวิสามัญ) ครั้งที่ 1 เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ซึ่งเป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระที่ 3 โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้นายชวนได้แจ้งให้ทราบถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ที่ระบุ รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนทำประชามติก่อนว่า มีความประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ต่อจากนั้นสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายว่าจะมีการลงมติ วาระ 3 หรือไม่  นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประขารัฐ(พปชร.) ในฐานะผู้ยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุว่า การโหวตวาระ 3 จะทำไม่ได้ ตรงกับความเห็นของฝ่ายกฎหมายของสภาฯ จะเก็บไว้ต่อไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเริ่มต้นเสนอญัตติใหม่ ถ้ารัฐสภาเห็นชอบ ก็ส่งให้ ครม.จัดทำประชามติ ถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็ใช้วิธีตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ฝ่ายกฎหมายวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาเห็นตรงกันว่า การลงมติวาระ 3 ทำไม่ได้จึงขอเสนอญัตติตามข้อบังคับประชุมเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาการลงมติวาระ3 ไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีการทำประชามติ จึงต้องตกไป

ขณะที่ฝ่ายค้าน อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.)  กล่าวว่า ไม่มีข้อความใดในศาลรัฐธรรมนูญระบุไม่ให้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไม่ได้ เป็นแค่ความเห็นของฝ่ายกฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ถึงจะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ไขทั้งฉบับ เพราะไม่ได้แตะต้องหมวด 1 และ 2 ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ลงวาระ 3 ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐสภาทำอะไรไม่ได้เลย ยืนยันรัฐสภาลงมติวาระ 3 

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มีผู้ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารปี 2557 นั่งอยู่ในที่นี้หลายร้อยคน วันนี้ยังมาขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญอีก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปราบโกง แต่ขี้โกง เอาเปรียบ ต้องการสืบทอดอำนาจ ควรโหวตวาระ 3 ให้เสร็จ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้โหวต อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ตีความแบบศรีธนญชัย

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 31 ให้รัฐสภาได้มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) เพราะทันทีที่คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องความเห็นที่ไม่สอดคล้องต้องกันในเรื่องของการตีความคำวินิจฉัยกลางว่าแท้จริงแล้วคำวินิจฉัยกลางมีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติ  จึงเห็นควรให้รัฐสภา มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระออกไปก่อน และจะต้องหาข้อชัดเจนให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอแนวทางนี้ไว้แล้ว ด้วยเหตุผลว่า หากรัฐสภาเลือกวิธีการโหวตไปในวันนี้ อาจจะมีคนตีความว่าเป็นการลงมติไปโดยไม่ชอบด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำลักษณะนี้จะเป็นการยืดเวลาหรือไม่นั้น ก็ตอบว่า เวลานั้นต้องใช้แน่นอน แต่ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตข้างหน้า แล้วอาจจะทำให้กระบวนการที่ทำมาทั้งหมดนั้นเสียไป การเลื่อนหรือชะลอการลงมตินี้คือการคุ้มครองการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ คุ้มครองศักดิ์ศรีของนิติบัญญัติ ซึ่งทำหน้าที่ในนามประชาชน