"โควิด-19" กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

2021-02-13 06:00:06

"โควิด-19" กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

Advertisement

"โควิด-19" กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ดราม่าจนได้เคส "น้องลำโขง" โดนถลกหนัง

หมอเฉลยแล้ว "น้ำมะพร้าว" เพิ่มพลังเซ็กส์จริงหรือ?

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SARS-CoV-2 หากเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการรักษาในสถานการณ์ที่มีโควิด-19 ระบาด ควรจะต้องเตรียมตัวและรับมือกันอย่างไรบ้าง บทความนี้ได้รวบรวมคำถามมาฝากกัน

คำถาม: ผู้ป่วยมะเร็งมีความเสี่ยงของการรับเชื้อไวรัสนี้สูงหรือไม่ และถ้าได้รับเชื้อแล้วจะเกิดอาการของโควิด-19 รุนแรงกว่าคนทั่วไปหรือไม่

คำตอบ: เชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ใครก็ตามที่ได้สัมผัสรับเชื้อเข้าไปย่อมมีโอกาสเกิดอาการของโควิด-19 ได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งหากได้รับเชื้อย่อมมีโอกาสที่จะเกิดอาการของโรคที่รุนแรง นอกจากนี้ปัจจัยของโรคประจำตัวร่วมชนิดอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในผู้ป่วยมะเร็งจะเป็นปัจจัยเสริมให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ โรคไต โรคถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ฯลฯ โดยทั่วไปโรคมะเร็งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือด-ต่อมน้ำเหลือง และกลุ่มมะเร็งเนื้องอก กลุ่มมะเร็งเม็ดเลือด-ต่อมน้ำเหลืองจะมีความอ่อนแออันเนื่องมาจากเม็ดเลือดขาวและระบบน้ำเหลืองซึ่งเดิมมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อแต่กลับไม่สามารถทำงานได้ปกติในสภาวะที่เป็นมะเร็ง จึงส่งผลให้ร่างกายมีความอ่อนแอและสามารถมีอาการของโควิด-19 ที่รุนแรงได้ ในขณะที่กลุ่มมะเร็งชนิดเนื้องอกจะก่อให้เกิดปัญหาการเบียดหรืออุดตันอวัยวะต่าง ๆ อาทิเช่น มะเร็งปอด มะเร็งชนิดอื่นที่แพร่กระจายมายังปอด ซึ่งสามารถทำให้การทำงานของปอดและหลอดลมผิดปกติจึงง่ายต่อการเกิดโควิด-19 ที่รุนแรงได้ การได้รับยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยการฉายแสงและภาวะทุพโภชนาการ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีความอ่อนแอเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากความรุนแรงของโรคมะเร็งพื้นฐาน

คำถาม: ถ้าเคยเป็นมะเร็งและได้รับการรักษาจนหายแล้ว จะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโควิด-19 รุนแรงหรือไม่

คำตอบ: ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลระบุชัดเจนว่าผู้ที่หายขาดจากมะเร็งแล้วจะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโควิด-19 รุนแรงหรือไม่ อย่างไรก็ตามโรคประจำตัวอื่นหรืออายุที่เพิ่มขึ้นย่อมมีผลต่อภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงได้

คำถาม: ในระหว่างนี้ที่มีการระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยมะเร็งจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากอยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง

คำตอบ: สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การฉายรังสี การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการรักษาต่อไป โดยแพทย์ผู้รักษาจะมีการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่อาการของโรคไม่รุนแรง สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน แพทย์ผู้รักษาสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยบริการโทรเวชกรรม หรือ telemedicine เพื่อติดตามอาการโดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลและทำการจัดส่งยาให้ถึงบ้าน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาจนครบถ้วนแล้ว แพทย์ผู้รักษาสามารถติดตามอาการด้วยบริการโทรเวชกรรมเช่นเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสเมื่อเดินทางออกมานอกบ้านได้

คำถาม: ถ้าผู้ป่วยมะเร็งมีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ควรมีการป้องกันและระวังตัวอย่างไร

คำตอบ: ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ด้วยระยะเวลาอย่างน้อย 20 วินาทีหรือแอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร ภายหลังใช้บริการห้องน้ำ ภายหลังสัมผัสผู้อื่นหรือสิ่งของรอบตัว ควรระมัดระวังไม่ใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสดวงตา จมูกและปากของตนเอง พยายามอยู่ห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยหน้ากากต้องครอบคลุมจมูกและปากตลอดเวลา รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่หรือเตรียมอาหารมารับประทานเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะที่มีคนหนาแน่น เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน ควรอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้า จากนั้นสังเกตตนเองว่ามีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ ไข้ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ไม่สามารถรับรสอาหารหรือรับกลิ่นได้ปกติ หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ต้องรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุโดยเร็ว

คำถาม: ญาติของผู้ป่วยมะเร็งควรปฏิบัติตัวอย่างไร

คำตอบ: ญาติผู้ป่วยมะเร็งควรถือปฏิบัติการป้องกันตนเองเพื่อลดโอกาสติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เช่นเดียวกับผู้ป่วยมะเร็ง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความแออัด คนพลุกพล่าน อาการไม่ถ่ายเท เนื่องจากว่ามีโอกาสที่จะรับเชื้อไวรัสและสามารถแพร่ไปสู่ผู้ป่วยมะเร็งได้ ถ้าหากได้เดินทางไปสถานที่เสี่ยงควรแยกตัวออกห่างผู้ป่วยมะเร็งอย่างน้อย 14 วัน

คำถาม: ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาหรือเสร็จสิ้นการรักษาไปแล้ว สามารถได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

คำตอบ: เนื่องจากว่าการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนที่ผ่านมานั้นดำเนินการในผู้ที่มีสุขภาพดีทำให้มีข้อจำกัดถึงการอนุมานผลดังกล่าวกับผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรับยาเคมีบำบัดการฉายแสง การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอาจจะมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนน้อยกว่าคนปกติเนื่องจากภูมิคุ้มกันตนเองมีความอ่อนแอไม่สามารถทำงานได้ แพทย์อาจจะพิจารณาให้วัคซีนเมื่อผ่านพ้นการรักษาดังกล่าวไปแล้ว สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดครบเสร็จสิ้นแล้ว สามารถได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ ถ้าไม่เคยมีประวัติการแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีนจำพวกตัวทำละลายหรือสารเพิ่มความคงตัวของวัคซีน (โพลีเอธิลีนไกลคอลและโพลีซอร์เบต) หรือส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการเกิดโรคยังคงต้องติดตามกันต่อไป ในขณะเดียวกันผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อเฉกเช่นเดียวกับก่อนได้รับวัคซีน

คำถาม: ญาติผู้ป่วยมะเร็ง สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

คำตอบ: โดยทั่วไปวัคซีนบางชนิดที่เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตอยู่จะห้ามฉีดให้แก่ผู้ดูแลหรือญาติผู้ป่วยมะเร็งเพราะเชื้อดังกล่าวสามารถส่งต่อสู้ผู้ป่วยมะเร็งได้ แต่วัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสหรือเชื้อไวรัสที่ตายแล้วจึงสามารถทำการฉีดแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างปลอดภัย สำหรับญาติผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับวัคซีนแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยและปฏิบัติตัวป้องกันการรับเชื้อไวรัสต่อไป ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสจะไม่สามารถทำอันตรายกับญาติผู้ป่วยที่รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ทว่าเชื้อไวรัสสามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจของญาติผู้ป่วยโดยไม่ก่อโรคแต่มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อดังกล่าวสู่ผู้ป่วยมะเร็งได้

อ.นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล