ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

2018-01-04 12:10:00

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Advertisement

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2561เติบโต 4.2-4.5% คาดท่องเที่ยวคึกคัก เงินสะพัด 4-5 แสนล้านบาท หนุนเศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าคาดการณ์ไว้

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่า มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อยู่ในกรอบ ร้อยละ 4.2 -4.5 เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกสดใสกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าการเติบโตของการส่งออกปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 5 ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถเจิบโตอยู่ในกรอบที่ประมาณการไว้ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์การเมืองในต่างประเทศ รวมถึงการเมืองภายในประเทศ จะต้องผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งโดยเริ่มจากการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ภายในปีนี้

ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การลงทุนของภาครัฐในเรื่องการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยจะทำให้เกิดการลงทุนเรื่องการก่อสร้าง ส่วนการท่องเที่ยวที่ในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวภายในประเทศถึง 3.7 ล้านคน ประเมินว่าจะมีเงินไหลเวียนในระบบประมาณ 4-5 แสนล้านบาท อาจหนุนเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้สูงกว่าประมาณการที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. 2560 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้านี้อยู่ที่ 79.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือน และเป็นดัชนีความเชื่อมั่นที่ดีที่สุดในรอบ 35 เดือน คล้องกับดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคในปัจจุบันและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย




ดร.ธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจฐานรากยังคงทรงตัวจากราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำส่งผลรายได้ของเกษตรกรไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักทำให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มนี้ ในส่วนของกรอบค่าเงินบาทที่แข็งค่าและทรงตัวอยู่ที่ 32.2- 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มองว่าจะไม่กระทบกับการส่งออกเนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกกำลังปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจในภาพรวม แต่อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่อาจจะต้องปรับตัวและแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนนี้มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยควรดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้