"อานันท์" ยกประวัติศาสตร์ พ.ค.35 ให้คนรุ่นหลังเป็นบทเรียน หวังจะไม่เกิดขึ้นอีก
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 17 พ.ค.65 ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กทม. นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานพิธีรำลึก 30 ปี สดุดีวีรชนพฤกษาประชาธรรม ที่จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ตอนหนึ่งว่า วันนี้ตนมาร่วมงาน เพราะว่าหลังจากเหตุการณ์ พ.ค.35 ได้ลุกลามต่อไป ตนได้รับเกียรติยศได้รับเชิญให้มาเป็นนายกฯ ต่อมาตนได้เป็นคณะกรรมการในเรื่องของการชดใช้ความเสียหาย การสูญเสียทรัพย์ การสูญเสียพี่น้องทั้งหลาย ซึ่งการสูญเสียนั้นญาติพี่น้องที่อยู่ ณ ที่นี่จำได้ดี แม้จะผ่านมา 30 ปีแล้ว แม้แต่ตัวของตนเองก็จำได้ดี และคงจะไม่ลืม ในชีวิตคนเราทุกคนที่ได้ประสบปัญหาในชีวิต จะเป็นเพราะเราทำเองหรือคนอื่นทำให้ หรือเราเป็นผู้ถูกกระทำ ชีวิตเราต้องดำเนินต่อไป และชีวิตที่เราดำเนินต่อมาอีก 30 ปี หลายครั้งหลายคราวความขมขื่นก็ยังคงเหลืออยู่ แต่สุดท้ายถึงแม้จะไม่มีการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดเพราะเหตุใด ใครเป็นผู้กระทำหรือใครเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งในทางพุทธศาสนาเราจะเอาความเคียดแค้น ความเสียใจ ความผิดหวังในชีวิตมาแป็นเครื่องกีดขวางการดำเนินชีวิตในอนาคตไม่ได้ ดังนั้นตนยินดีที่ไม่กี่ปีมานี้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ได้ออกมาแล้ว โดยกระทรวงกลาโหมได้มีการขอโทษเป็นทางการ และผู้ที่มีส่วนเสียหายก็ได้อโหสิกรรมให้กับการกระทำ
นายอานันท์ กล่าวต่อว่า ความทรงจำเรามีอยู่ เราไม่ลืม แต่เราต้องเดินข้ามไปแล้ว และวันนี้ตนยินดีที่ได้มาพบญาติพี่น้องของผู้สูญเสียอีกครั้งหนึ่ง ถือว่าการมาร่วมทำบุญ ในวันนี้เป็นบุญกุศลกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และอนุสรณ์ที่เราทำขึ้นมาก็เป็นการปลุกให้คนระลึกถึงว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก แต่อนุสรณ์ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความเคียดแค้น หรือสัญลักษณ์ของความเจ็บใจ แต่เป็นอนุสรณ์ของการสร้างบทเรียนประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นเราและคนรุ่นหลานของผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรงได้ระลึกเสมอว่าครั้งหนึ่งได้มีการต่อสู้เพื่อประชารัฐ และเพื่อประชาคม เรียกร้องหาสิทธิเสรีภาพ หาโอกาสที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดความอยุติธรรมในสังคม แสวงหาสิทธิขั้นต้นในการแสดงออกความคิดเห็นหรือมีความเห็นที่แตกต่าง คนเราความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีความแตกแยก มีการต่อสู้ มีการใช้กำลังกันแล้วถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เรามีบทเรียนแบบนี้หลายครั้ง ใน 80 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็ไม่เคยจำ เพราะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ยังเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งต่อไป การไม่อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ทำให้ความขัดแย้งที่ลุกล้ำเข้าไปถึงจิตใจประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชัง โมโห โทสะ อย่างรุนแรง ถ้าเราไม่เรียนจากประวัติศาสตร์ว่าสิ่งที่ผ่านมาผิดตลอดเวลา เมืองไทยเราจะหาความสุขสงบได้ยาก เพราะความปรองดองต้องสร้างขึ้นจากพวกเราทั้งหลาย โดยการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างความเชื่อถือและความมั่นใจซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะไม่เป็นมิตร แต่สร้างความไม่เป็นศัตรูซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและความพยายาม รวมถึงใช้สติ วันนี้เรามาระลึกถึงอดีต แต่เราต้องคุมสติไว้เพื่อนำประเทศชาติ และสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์
“ผมหวังว่าเหตุการณ์ประเภทนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย เพราะถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว เราไม่โต แต่เราจะย้อนหลังเป็นเด็กมากขึ้นมากขึ้นทุกทีๆ ผมไม่ได้สูญเสียอะไรในวันนั้น แต่เหตุการณ์เหล่านั้นทำให้ผมรู้สึกว่าผมต้องรักประเทศชาติและคนไทยมากขึ้น เพราะในสังคมทุกสังคมมีแต่ความเกลียดชัง ดูถูกดูแคลน สิ่งเหล่านี้จะต้องหมดไป ดังนั้นวันนี้ครบ 30 ปีขอให้วิญญาณผู้ที่สิ้นชีวิตไป ไม่ว่าจะเพศใด ศาสนาใด ตำแหน่งใด ขอให้วิญญาณทุกท่านและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกบันดาลให้คนไทยตื่นจากความมืดมัว ตื่นจากความซึมเศร้า ตื่นเพื่อต่อสู้ สร้างอนาคตใหม่ที่ดีงาม ที่เป็นธรรม และไม่เป็นภัยกับผู้ใดทั้งสิ้น” นายอานันท์ กล่าว
นายอานันท์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเมืองไทยในปัจจุบันว่า การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็มีแต่ยังน้อยไป เพราะการเปลี่ยนแปลงในทางไม่ดีมากกว่า ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิขั้นต้นของมนุษยชาติสังคมไทยยังไม่สามารถหาคำตอบที่ดีให้ได้ เราผ่านระบอบประชาธิปไตยมา 80 ปี ตนอายุจะ 90 ปีแล้วเห็นความก้าวหน้าในเรื่องความคิดมากกว่า แต่ความก้าวหน้าที่ออกมาเป็นรูปธรรมค่อนข้างจะน้อย ตนเป็นห่วงว่าในยุคปัจจุบันความเจริญของความเลวไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะก้าวหน้า แต่เราก้าวไปอย่างช้าๆ แต่โลกนำหน้าไปก่อน สิ่งที่เราตามหลังเราจะถอยหลังไปมากขึ้น ตนจึงหวังว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทั้งตัวหนังสือและจิตวิญญาณจะเป็นของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในแง่สิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสังคม เป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถเป็นเครื่องมือหรือแนวนโยบายขั้นพื้นฐานที่จะนำสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และจะนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นห่วงคนอื่น ไม่ใช่ห่วงแต่ตัวเอง และเป็นสังคมที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ เป็นสังคมที่ไม่ใช่ประหัตประหารคนรวย เราอย่าไปอิจฉาคนรวย แต่ความร่ำรวยของเขาได้มาจากอะไร ซึ่งรัฐธรรมนูญต้องมีขอบเขต และทุกประเทศปัญหาแรกที่ต้องทำคือลดความจนของคน เพราะถ้าคนยังมีความจนอยู่ สิทธิที่เขาจะได้ไปตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมายเท่าไหร่ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลควรตระหนักว่าปัญหาการเมืองมี แต่ปัญหาปากท้องประชาชน เศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน และการดูแลให้ประชาชนมีเสื้อผ้าใส่ มีการพยาบาลที่สมบูรณ์ มีที่พักอาศัย เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบหรือเสี้ยวใบ หรือรัฐบาลรัฐประหารก็เป็นหน้าที่ขั้นต้น จึงอยากเห็นรัฐบาลไทยให้ความสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้นและทำจริงจัง ไม่ใช่สักแต่ว่าพูด
เมื่อถามว่าตอนนี้มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งและปัญหาปากท้องประชาชนค่อนข้างมากจนมีเสียงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมรับผิดชอบนั้นจะมีข้อแนะนำอย่างไร นายอานันท์ กล่าวว่า ตนไม่มีข้อแนะนำ เพราะไม่มีตำแหน่ง อำนาจ และความรับผิดชอบ ดังนั้นจะพูดอะไรก็ต้องรู้อยู่เสมอว่าตนไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ ดังนั้นการพูดอะไรออกไปในประเด็นที่ไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่รับฟัง
เมื่อถามว่ามองว่ารัฐบาลในขณะนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะดูเหมือนความขัดแย้งยังฝังรากลึกอยู่ กังวลว่าจะเกิดความรุนแรงเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ นายอานันท์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสื่อมีส่วนที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางวาทกรรม แต่ที่ร้ายแรงไปกว่าสื่อคือแฟลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นคนหูเบา พอได้ยินอะไรมาก็ไม่ไตร่ตรองรับไปเป็นความจริงทันที ตรงนี้ถือว่าอันตราย เพราะตามหลักพระพุทธศาสนาสอนเสมอว่าทุกอย่างที่พูดไม่ใช่ว่าต้องเชื่อทุกอย่าง ต้องฟังให้ดี และไปไตร่ตรอง และคิดดูว่าถูกหรือผิด คนไทยเราอ้างว่าเราเป็นพุทธ แต่เข้าใจหลักพุทธศาสนาค่อนข้างน้อย ดังนั้นเรื่องการปรองดองอยู่ในบรรยากาศที่มีการทะเลาะกันในเรื่องสิ่งที่ไม่ควรทะเลาะ ก็ปรองดองลำบาก ดังนั้นทุกคนต้องจับเข่าคุยและหันหน้าคุยกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องเจรจา ถ้าต่างคนต่างวางท่าว่าถูกก็ปรองดองไม่ได้ เพราะความปรองดองจะปรองดองคนเดียวไม่ได้ อย่างน้อยต้องสองฝ่าย แต่ความขัดแย้งของเมืองไทยมากกว่าสองฝ่าย ดังนั้นต้องตั้งสติ เพราะถ้าไม่คุยกัน ปรับพื้นฐานความรู้ในสิ่งที่สำคัญให้เห็นตรงกัน สร้างความเชื่อมั่น ไว้ใจและเห็นใจแล้วจะนำไปสู่ความรู้สึกว่าอยากอยู่ร่วมกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องปรับความคิดอีกคนให้เหมือนกัน ความคิดแตกต่างได้ แต่ไม่ต้องแตกหัก สู้รบกัน แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือว่าตนเองถูกเสมอหรือทำตามกฎหมายเสมอ ถ้ากฎหมายไม่ดีหรือผิดจะทำอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีมากขึ้นในสังคมไทยต้องมีสติ กับสติสัมปชัญญะ