โทษแรงแค่ไหนหากใครครอบครอง ? "ยาเสียสาว" (อัลปราโซแลม)

2022-05-11 16:50:12

โทษแรงแค่ไหนหากใครครอบครอง ? "ยาเสียสาว" (อัลปราโซแลม)

Advertisement

ใครยังไม่รู้จักมารวมกันตรงนี้ มีความผิดติดตัวนะหากใครครอบครอง ? "ยาเสียสาว" (อัลปราโซแลม) โทษแรงแค่ไหนไปดูกันเลย !! 



หลังอัยการจังหวัดนนทบุรี มีคำสั่งให้ตำรวจสอบสวนคดีการเสียชีวิตของ "แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์" เพิ่มเติมอีก 20 ประเด็น และยังได้เรียก 2 ทีมแพทย์ที่ผ่าตัดเข้าพบ ก็เกิดประเด็นใหม่ๆ ผุดขึ้นมาอีกมากมาย จากคนหวังดีที่คอยจับตาดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดนี้ ทั้งคลิปผ่าชันสูตร ทั้งแชตข้อความคุยกัน อีกทั้งยังมีคลิปเสียงสนทนา มันมีหลักฐานมากมายเกินจะบรรยายได้ว่า คดีนี้ไม่จบลงง่ายๆ แน่ ถึงแม้ตำรวจชุดสืบจะออกแถลงสรุปคดีไปแล้วก็ตาม 






ซึ่งกับกรณีล่าสุดที่ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ตรวจพบสาร "Alprazolam" หรือ "ยาเสียสาว" ในพยานบุคคลบนเรือ 1 ราย จาก 3 ราย โดย “ปอ ตนุภัทร” เจ้าของเรือยอมรับ ใช้ยา "Alprazolam" เพื่อแก้เครียดเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อมอมใคร กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างว่าเหตุใด เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงไม่ดำเนินคดีกับผู้ครอบครอง อีกทั้งยังบอกว่าเป็นเรื่องปกติหากพบผู้ใช้ยาตัวนี้อีกด้วย






และในที่นี้หากใครยังไม่รู้จักว่าชื่อ "ยาเสียสาว" ที่สื่อมวลชนมักใช้กับยาตัวนี้มีที่มาอย่างไร วันนี้ "ทีมข่าวบันเทิง นิวออนไลน์" จะมาชำแหละต้นตอของคำว่า "ยาเสียตัว" หรือ "ยาเสียสาว" (อัลปราโซแลม Alprazolam) กันแบบหมดเปลือก ...

เพื่อนๆ คงเคยได้ยินข่าวพริตตี้สาวถูกมอมยาพาเข้าโรงแรม แต่เพื่อนของพริตตี้คนนี้เข้าไปช่วยไว้ได้ทัน ตรวจร่างกายเหยื่อมอมพบสาร "อัลปราโซแลม" ในเลือด โดยมีอาการอ้วก หมดสติและหลังตื่นขึ้นมาก็ง่วงซึม มึนงง สูญเสียการทรงตัวและสูญเสียความทรงจำ และนี่เป็นเพียงหนึ่งเคสที่ยกตัวอย่างมาให้รับทราบพิษภัยของยาตัวนี้ 





จากข้อมูลพบว่า "ยาเสียสาว" หรือ “อัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นหนึ่งในยาที่อยู่ในกลุ่มพวกวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 คือ วัตถุออกฤทธิ์ที่มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง และมักจะถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด เพื่อหวังก่ออาชญากรรมต่างๆ กฎหมายจึงห้ามผู้ใดผลิต นําเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณี

ยาเสียสาว มีผลอะไรต่อร่างกาย ?
กองควบคุมวัตถุเสพติด ระบุว่า ฤทธิ์ของยาดังกล่าว ในทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ที่พบ เช่น คลายกล้ามเนื้อลาย (muscle relaxants) ต้านอาการชัก (antiepileptics) ทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ (anterograde amnesia) ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำลดลง สมรรถภาพในการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญ หรือการตัดสินใจฉับพลันเสื่อมลง



นอกจากนี้ ยาดังกล่าว ยังมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางจึงมีผู้ที่นำยานี้มาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่นที่ ปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นต้น



ยาเสียสาว มีโทษอย่างไรต่อผู้ใช้ ?
ผู้ที่ใช้ยาเสียสาว เกินขนาดเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้



ยาเสียสาว มียาอะไรบ้าง ?
สำหรับกลุ่มยาเสียสาว มักมีการใช้สารเคมี ดังนี้

ยามิดาโซแลม (Midazolam)

ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)

ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam)

สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate)

ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine)

ยามิดาโซแลม, อัลปราโซแลม และ ฟลูไนตราซีแปม เป็นยากลุ่ม Benzodiazepines (กลุ่มยานอนหลับ และยาคลายเครียดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย) ซึ่งยาทั้งหมดนี้สามารถละลายในน้ำได้ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่มต่างๆ ให้คนดื่มไปโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยาลงไป



ทั้งนี้ ยากลุ่มเสียสาว เป็นยาที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ผู้ที่ฝ่าฝืนและนำมาครอบครอง ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ