ว่าด้วยเรื่อง "การกรน"

2022-05-06 13:15:59

 ว่าด้วยเรื่อง "การกรน"

Advertisement

ว่าด้วยเรื่อง "การกรน"

กรนนั้นสำคัญไฉน แปลว่าหลับสบาย หรือเป็นแค่เสียงหายใจของคนบางคนที่กำลังหลับอยู่ หรือมีอะไรซับซ้อนกว่านั้น?

ส่วนใหญ่ปัญหาเรื่องนอนกรน ภรรยาหรือสามีของคนไข้จะเป็นคนพาคนไข้ไปหาหมอ หรือไม่ก็ตัวคนไข้เองไปหาหมอเพราะถูกคนข้างเคียงบ่นว่าเรื่องกรนเสียงดัง แต่พอไปพบหมอ นอกจากถามเกี่ยวกับความดังของเสียงกรนแล้วหมอจะถามอาการอื่น ๆ อีกหลายอย่างตั้งแต่ อาการอ่อนเพลีย อาการง่วงนอนผิดปกติ อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างหลับ เช่น ตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อยไหม อาการสะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้าย ถามถึงโรคประจำตัวทั้งหลายตั้งแต่ความดันสูง โรคหัวใจ สมอง โรคตา โรคหูและอีกหลายคำถามมากมาย

ทั้งที่เราไปหาหมอด้วยปัญหาเรื่องเสียงกรนแต่หมอกลับยิงคำถามอื่น ๆ อีกเยอะแยะก็เพราะหมอต้องดูว่าคนไข้น่าจะมีโรคหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ร่วมอยู่ด้วยหรือเปล่า เหตุเพราะโรคหยุดหายใจขณะหลับส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมายหลายประการ ซ้ำร้ายยังอาจส่งผลให้คนไข้ที่มีอาการรุนแรงเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควรได้อีกด้วย

ถึงตรงนี้คงมีข้อสงสัยต่อว่าคนนอนกรนทุกคนเลยหรือเปล่าที่จะมีโรคหยุดหายใจขณะหลับ ขอถือโอกาสให้ข้อมูลตรงนี้นะครับ เพื่อให้ท่านที่ใกล้ชิดคนนอนกรนได้ไปสังเกตในคืนนี้ว่าคนที่นอนกรนข้างๆเรามีลักษณะการกรนแบบไหน และแต่ละแบบน่าจะมีปัญหาหยุดหายใจมากหรือน้อยอย่างไร

แบบแรกเรียกว่า "กรนคลาสสิค" คือพอหลับปุ๊บ ไม่ว่าตะแคงหรือหงายเสียงกรนจะดังทันที แถมเสียงกรนมีหลายหลากเสียง อาจมีทั้งเสียงอิ๊ด ๆ สั้น ๆ หรือครืด ๆ แล้วเงียบไปชั่วขณะ (อาจแค่ 10 วินาทีหรือนานเกือบนาทีในบางครั้ง) แล้วตามด้วยเสียงกรนคร่อก..ก..โพล่งขึ้นมาอย่างแรง พร้อมหายใจถี่ ๆ ตามมาหนึ่งชุด แล้วเสียงกรนก็กลับเงียบไปอีกสลับกันไปเรื่อย ๆ เป็นวงจร คราวนี้ให้สังเกตดูตอนที่เสียงกรนเงียบจะเห็นว่า ช่วงที่เงียบไปจริง ๆ แล้วเป็นเพราะไม่มีลมหายใจผ่านเข้าออกจมูกปาก ทั้งที่ขณะนั้นอกและท้องก็ยังกระเพื่อมอยู่ แต่มันดูคล้ายหายใจแบบอึกอัก แบบเหมือนคอถูกบีบหรือถูกอุดไว้ แบบนี้บอกได้เลยครับว่ามีภาวะหยุดหายใจแน่ ๆ และรุนแรงเสียด้วย

แบบที่สองก็รุนแรงเช่นกันคือชอบนั่งพิงเก้าอี้หรือนั่งหลับในรถ แม้ในท่านั่งก็ยังกรนดังคร่อก ๆ ตลอด แบบเสียงดังฟังชัด แบบนี้ต่อให้ไม่เห็นลักษณะแบบคลาสสิคก็มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับแน่ แบบนี้ผมเรียกว่า "นั่งยังกรน"

แบบที่สามจะมีลักษณะกรนแบบคลาสสิคเฉพาะท่านอนหงาย ความแปรปรวนของเสียงกรนมักจะไม่มากนัก แต่มีช่วงกรนดังสลับช่วงเงียบเป็นวงจรเช่นกัน แต่บางครั้งช่วงที่หยุดหายใจอาจมาห่าง ๆ ไม่ถึง 10 ครั้งใน 1 ชั่วโมง เวลานอนตะแคงอาจดูหายใจสบาย ๆ ไม่มีเสียงกรนเลยหรือมีกรนแผ่ว ๆ บ้างและเสียงเป็นจังหวะสม่ำเสมอตามการหายใจดีกว่านอนหงาย แบบนี้ผมเรียก "กรนเมื่อหงาย" กลุ่มนี้จะมีภาวะหยุดหายใจในท่าหงาย ส่วนท่าตะแคงจะมีหยุดหายใจบ้างแต่น้อยกว่าหรือไม่มีเลย

แบบที่สี่ เสียงกรนจะดังแผ่ว ๆ แบบสม่ำเสมอเป็นครั้งคราวเป็นบางช่วงของคืน แต่ก็มีนาน ๆ ทีที่มีลักษณะหายใจดูคล้ายหยุดหายใจให้สังเกตเห็นได้บ้างหรือสังเกตไม่เห็นเลย ขึ้นกับความอ่อนล้าในวันนั้น เราที่อยู่ข้าง ๆ อาจคิดในใจว่า "วันนี้ท่าจะเหนื่อย" ประมาณนั้น ไม่ถึงกับทำให้คนข้าง ๆ ผวา เลยตั้งชื่อว่า "กรนหลับปุ๋ย" กรนแบบนี้ถ้าไม่มีอาการร่วมอื่นใด แพทย์ดูแล้วไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ไม่น่ากังวลมากนัก

แบบสุดท้ายเรียกว่า "กรนซ่อนกรน" มักเป็นกลุ่มคนไข้ที่อายุมากแล้ว กล้ามเนื้อทั้งหลายไม่ค่อยมีกำลัง เนื้อหนังทั้งหลายก็หย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วง ท่านเหล่านี้เวลาหลับลมหายใจก็จะแผ่วด้วย เสียงกรนของท่านมักไม่ดังมาก ท่านอาจมีการหยุดหายใจเพราะขากรรไกรตก ลิ้นหย่อนไปอุดเป็นห้วง ๆ ได้เช่นกัน โดยที่บางครั้งเรามองไม่ออกเลย ท่านเหล่านี้อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับโดยที่กรนแค่แผ่ว ๆ หรือแทบไม่กรนเลย แบบนี้ลูกหลานต้องคอยดูดีๆ ว่าเวลาที่ท่านหลับแล้วมี “กรนซ่อนกรน” หรือไม่ ยิ่งถ้ากลางวันท่านมีอาการอ่อนเพลียง่วงนอนผิดปกติ หรือมีโรคทางสมองหรือโรคหัวใจอยู่ด้วยยิ่งต้องดูให้ดี

ถึงตรงนี้คงเห็นภาพชัดขึ้นว่า กรนที่มีการหยุดหายใจของคนใกล้ชิดเกิดขึ้นได้ในลักษณะไหนบ้าง อย่างไรก็ตามลักษณะการกรนข้างต้นยังไม่แม่นยำและถูกต้องดีพอถึงขนาดนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรค หมอที่ตรวจรักษาคนไข้จำเป็นต้องรู้ให้ได้อย่างชัดเจนแน่นอนว่าคนที่กรนนั้นมีโรคหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และรุนแรงมากน้อยแค่ไหน โดยการตรวจสภาพการนอนหลับ (polysomnography) ซึ่งผลการตรวจทำให้รู้ว่าคนไข้มีการหยุดหายใจกี่ครั้งต่อชั่วโมง แต่ละครั้งเฉลี่ยนานแค่ไหน ออกซิเจนตกมากน้อยเพียงใด ทั้งในท่านอนหงายและตะแคง และสภาพการหลับของสมองเป็นอย่างไร มีหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยหรือไม่ เป็นต้น หลังจากทราบผลตรวจหมอก็จะวางแผนการรักษาร่วมกับคนไข้ตามแนวทางมาตรฐานต่อไป

ผศ. นพ.สิทธิ์เทพ ธนกิจจารุ

อาจารย์พิเศษภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล