ไขปริศนา "งูหินยักษ์" ถ้ำนาคาแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร? (มีคลิป)

2022-02-13 11:26:08

ไขปริศนา "งูหินยักษ์" ถ้ำนาคาแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร? (มีคลิป)

Advertisement


"อ.เจษฎา"ไขปริศนา "งูหินยักษ์" ถ้ำนาคา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ที่ผู้คนศรัทธาไปกราบไหว้ แท้จริงแล้วเกิดจากอะไร

เป็นอีกหนึ่งอันซีนไทยแลนด์ ที่ถูกพูดถึงกันอย่างมาก และหลายคนก็ไม่พลาดที่จะไปเยือนสักครั้งในชีวิต สำหรับ ถ้ำนาคา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ที่มีหินลักษณะคล้ายงูยักษ์ทีขดตัวไปมา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ 


ล่าสุด  ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ขัอความผ่านเพจ Jessada Denduangboripant  ระบุว่า  "งูหินยักษ์ คือปรากฏการณ์ sun crack" มีการโพสต์ภาพแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า "ถ้ำนาคา" ตั้งอยู่ที่วัดถ้ำชัยมงคล อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ซึ่งบนยอดเขานั้น มีสภาพเห็นลักษณะเหมือนเกล็ดงู และมีรูปร่างคล้ายกับงูขนาดใหญ่ที่ขดตัวไปมา โดยชาวบ้านบางคนเชื่อว่าน่าจะเป็นงูยักษ์ที่กลายเป็นหิน โดยส่วนนี้เป็นสันหลังของพญานาค


ถ้ามองตามมุมของวิทยาศาสตร์ โดยไม่ได้อาศัยความเชื่อท้องถิ่นแล้ว ลักษณะหินที่เห็นนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ที่เราเรียกกันว่า "ซันแคร็ก sun crack" ทำให้เกิด "หมอนหินซ้อน"

ซันแคร็ก (แปลตรงตัวคือ หินแตกเพราะดวงอาทิตย์) เกิดจากการแตกของผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงไปมาของอุณหภูมิที่แตกต่างในเวลากลางวัน (ร้อน) และกลางคืน (เย็น) อย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับกันไปมา จนเริ่มแตกเป็นรูปหลายเหลี่ยมได้


ต่อมา เมื่อมีการผุพัง จากการกัดเซาะโดยน้ำฝนและกระแสอากาศในแนวดิ่ง ทำให้บริเวณนั้น ดูเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางซ้อนกัน เป็นชั้นขนานไปกับแนวของชั้นหินเดิม ดูตามรูปประกอบ จะเห็นขั้นตอนของการเกิดหมอนหินซ้อน เริ่มจากชั้นหินเดิมที่วางตัวขนานในแนวนอน แล้วชั้นหินเริ่มมีรอยแตกในแนวดิ่ง แล้วรอยแตกทั้งแนวดิ่งและแนวนอนก็เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องจากการแตกต่างของอุณหภูมิ ทำให้หินในการยื่นและหดตัวสลับกัน จากนั้นเมื่อเกิดการกัดเซาะในแนวดิ่งจากน้ำฝน ก็จะเห็นเป็นปรากฏการณ์ sun crack หรือหมอนหินซ้อนนี้ครับ




ส่วนการเห็นเป็นงูใหญ่นั้น ก็ขึ้นกับความบังเอิญ มุมที่มอง และจินตนาการของแต่ละคน ตามความเชื่อด้วยครับ ปล. จริงๆ แล้ว ส่วนคล้ายลำตัวงู พบที่ ถ้ำนาคา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ แต่ส่วนคล้ายหัวงู พบที่ หินหัวงู แขวงอุดมไซย ที่ สปป.ลาว.

ข้อมูลเรื่อง sun crack จาก http://www.dmr.go.th/.../freetemp/article_20180725152704.pdf

ขอบคุณเพจ Jessada Denduangboripant,กรมทรัพยากรธรณี,อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม - Phulangka National Park Thailand