"ซูเปอร์โพล"เผย ปชช.มองสภาฯล่ม ส.ส.ไร้จิตสำนึก

2022-02-12 18:31:57

  "ซูเปอร์โพล"เผย ปชช.มองสภาฯล่ม ส.ส.ไร้จิตสำนึก

Advertisement

"ซูเปอร์โพล"เผยผลสำรวจ ปชช.มองสภาฯล่มเหตุ ส.ส.ไร้จิตสำนึก แนะแก้ รธน. ลดจำนวน ส.ส.เพิ่มบทลงโทษ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นายนพดล กรรณิกา  ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “สภาล่มกับเสียงของประชาชน” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,152 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9 – 11 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ผลสำรวจปรากฎดังนี้ เมื่อถามถึงสาเหตุสภาล่ม อันดับ1 จิตสำนึกของ ส.ส. มีปัญหา ไร้คุณธรรม เช่น ขาดความรับผิดชอบ ไม่มีวินัย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน เป็นพวกนักการเมืองอ้างประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการเสียเอง เป็นต้น ร้อยละ 94.3 อันดับ2 ความล้มเหลวของระบบการเมืองของประชาธิปไตย 93.8 อันดับ 3 ส.ส.เล่นเกมการเมืองเกินไป ไม่จริงใจแก้ความเดือดร้อนของประชาชน ฝ่ายค้านมุ่งแต่โค่นล้มรัฐบาลอย่างเดียว ร้อยละ 93.7 อันดับ 4 ส.ส.ทำงานไม่คุ้มเงินภาษีของประชาชน ร้อยละ 93.4 อันดับ 5 ส.ส.ขาดเอกภาพและอุดมการณ์ประชาธิปไตยแท้จริง มีการต่อรองแลกประโยชน์ ตำแหน่ง ผลประโยชน์ และใช้เงินแลกเสียงในสภา ร้อยละ 93.3

เมื่อถามถึง ผลกระทบจาก 5 อันดับแรกจากเหตุสภาล่ม ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 ภาพใหญ่ประเทศและประชาชนเสียประโยชน์ ร้อยละ 93.0 อันดับ2 เกิดวิกฤตศรัทธาต่อนักการเมือง พรรคการเมืองและระบบการเมือง ร้อยละ 92.1 อันดับ2 ไม่สามารถออกกฎหมายสำคัญแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้ทัน ซ้ำเติมวิกฤตของประชาชน ร้อยละ 92.1 เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเมือง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ยังไม่พัฒนา ร้อยละ 91.7 อันดับ 5 มีการใช้โซเชียลมีเดีย ขยายผลทำให้เกิดวิกฤตการเมืองนอกสภา พาคนลงถนน สร้างความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชน ร้อยละ 91.0

เมื่อถามถึง แนวทางแก้ปัญหา สภาล่ม ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง ลดจำนวน ส.ส. เพิ่มบทลงโทษ ส.ส. ขาดจิตสำนึกต้นเหตุสภาล่ม ร้อยละ 94.5 อันดับ2 ให้พรรคการเมือง ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ร้อยละ 93.7 อันดับ 3 ทุกภาคประชาสังคมร่วมประณาม จี้ ส.ส.แก้วิกฤตและเคารพประชาชน ร้อยละ 93.4 อันดับ4 ขาน ประจานชื่อ ส.ส.ทุกคน ต้นเหตุสภาล่มและไม่เลือกเข้ามา ร้อยละ อันดับ 5 ส.ส. ต้องรีบปรับปรุงตนเอง ทำงานให้คุ้มเงินภาษีของประชาชน ก่อนจะสายเกินไป ร้อยละ 92.4