"อนุทิน"นำทีม 7 รมต.ภท.ลาประชุม ครม.

2022-02-08 15:25:58

 "อนุทิน"นำทีม 7 รมต.ภท.ลาประชุม ครม.

Advertisement

"อนุทิน"นำทีม  7 รมต.ภูมิใจไทยลาประชุม ครม. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม  ครม. เต็มคณะครั้งแรกหลังจากที่ว่างเว้นไประยะหนึ่ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สำหรับวาระที่น่าสนใจ คือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) จะเสนอขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในการขยายสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปี ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ "บีทีเอส" มูลค่า 4 แสนล้านบาท จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ด้านรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ยื่นหนังสือขอลาการประชุม ครม. เนื่องจากติดภารกิจ และแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกรณีกระทรวงมหาดไทย เสนอ ครม. ขอความเห็นชอบขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป 30 ปี

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นคัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติม เข้า ครม. ทุกครั้งที่จะมีการเสนอขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะใน4 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 2.ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท 3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา 4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้กทม.ชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน