"นิด้า" เผย ปชช.รับรู้ 4 นโยบายรัฐมากที่สุด

2022-02-08 09:50:56

"นิด้า" เผย ปชช.รับรู้ 4 นโยบายรัฐมากที่สุด

Advertisement

ศูนย์บริการวิชาการ "นิด้า" เผยผลสำรวจ ปชช.รับรู้รัฐบาลดำเนินนโยบายอย่างน้อย 10 เรื่อง 4 อันดับแรกรับรู้มากที่สุด "คนละครึ่ง- ชิมช้อปใช้ -ช้อปดีมีคืน-เราเที่ยวด้วยกัน"

ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ทำการสำรวจการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อนโยบายและผลงานรัฐบาล ระหว่างเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. 2564 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจากทุกภูมิภาค จำนวน 2,000 ตัวอย่าง ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษาและระบุนโยบายและผลงานที่สำคัญของรัฐบาลที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อสำรวจการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อนโยบายและผลงานของรัฐบาล ความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อนโยบายและผลงานรัฐบาล ซึ่งในการศึกษานี้ได้ยึดหลักการทำวิจัยตามหลักวิชาการและได้ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทฤษฎีด้านนโยบายสาธารณะและการรับรู้ของประชาชน ตลอดจนนแนวคิดทฤษฎีด้านการสื่อสารสาธารณะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามก่อนการจัดเก็บข้อมูลจริง

ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอย่างน้อย 10 เรื่อง โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพ การใช้จ่ายของกินของใช้ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งนโยบาย 4 อันดับแรกที่ประชาชนมีการรับรู้ในระดับมากถึงมากที่สุด ประกอบด้วย (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ คนละครึ่ง ชิมช้อปใช้ ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน รับรู้รวมเท่ากับ 99.4% และรับรู้ระดับมากถึงมากที่สุดเท่ากับ 50.5%, (2) มาตรการเยียวยาประชาชนจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่ เราชนะ เราไม่ทิ้งกัน และ ม33เรารักกัน รับรู้รวมเท่ากับ 98.9% และรับรู้ระดับมากถึงมากที่สุดเท่ากับ 45.4% (3) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รับรู้รวมเท่ากับ 99.3% และรับรู้ระดับมากถึงมากที่สุดเท่ากับ 39.3% และ (4) นโยบายเปิดประเทศ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รับรู้รวมเท่ากับ 96.5% และรับรู้ระดับมากถึงมากที่สุดเท่ากับ 36.3% ขณะที่นโยบายอื่น ๆ ที่มีขอบเขตด้านพื้นที่ ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และกลุ่มเป้าหมายของนโยบายที่เฉพาะเจาะจง กลับมีสัดส่วนการรับรู้ของประชาชนระดับมากถึงมากที่สุดในลำดับที่รองลงมา ไม่ว่าจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร, การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุและคนพิการ, การอุดหนุนเงินเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี, การส่งเสริมกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่อย่างไรก็ดี การรับรู้รวมของแต่ละนโยบายล้วนมีสัดส่วนที่มากกว่า 80% ขึ้นไปทั้งสิ้น ยกเว้นนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ การขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ การเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้า และนโยบายการเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของนโยบายมากนัก เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะเหตุนี้ จึงปรากฏผลการรับรู้รวมของนโยบาย 2 รายการสุดท้ายนี้ เท่ากับ 65.4% และ 64.4% ตามลำดับ

ผลการศึกษาการรับรู้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจข้างต้น ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารนโยบายและผลงานรัฐบาลที่พบว่า ประชาชนมีความเข้าใจฯ ในระดับมากถึงมากที่สุด คิดเป็น 4 อันดับแรกเช่นเดียวกัน โดยช่องทางการสื่อสารหลักที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนโยบาย ได้แก่ โทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เว็บเพจ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป อินสตาแกรม และติ๊กต็อก ส่วนที่เหลืออีก 6 นโยบาย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและการส่งต่อ/แบ่งปันข้อมูลข่าวสารของนโยบายในระดับมากถึงมากที่สุด ไม่เกิน 30.0% ทุกรายการ โดยเฉพาะนโยบายการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุและคนพิการ, การอุดหนุนเงินเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี, การเพิ่มค่าป่วยการ อสม., โครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ การขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ และการเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้า ในกรุงเทพมหานคร, โครงการประกันรายได้เกษตรกร (ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และนโยบายการส่งเสริมกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่พบว่าประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของนโยบายในระดับน้อยถึงไม่เข้าใจเลย รวมกันมากกว่า 40.0% ทุกนโยบาย ซึ่งปรากฏผลในทิศทางเดียวกันกับสัดส่วนของการไม่แบ่งปัน/ส่งต่อข้อมูลของทั้ง 6 นโยบาย เพราะประชาชนอย่างน้อย 45.0% ขึ้นไป ระบุว่าไม่มีการแบ่งปัน/ส่งต่อข้อมูลของกลุ่มนโยบายดังกล่าวแต่ประการใด ส่วนประเด็นการศึกษาด้านความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรีนั้น พบว่าประชาชน 50.30% มีความเชื่อมั่นระดับปานกลางขึ้นไปในด้านความใส่ใจและห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลว่า ควรมีการพิจารณาปรับรูปแบบในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนส่วนใหญ่มีการรับรู้นโยบายในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รับรู้เลย ด้วยการมุ่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของนโยบายในเชิงรุก ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนนิยม เช่น โทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น