สภาฯเห็นแย้ง ส.ว. แก้ไข 3 ร่าง พ.ร.บ.

2022-02-02 16:34:45

สภาฯเห็นแย้ง ส.ว. แก้ไข 3 ร่าง พ.ร.บ.

Advertisement

สภาฯเห็นแย้ง ส.ว. แก้ไข 3 ร่าง พ.ร.บ. ตั้ง กมธ.ร่วมพิจารณาทบทวน พท.ลุ ใช้อคติทำกฎหมายอืด

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร์ เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาเรื่องด่วน ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับที่วุฒิสภามีการแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากที่รับไปจากสภาผู้แทนราษฏร ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันพิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบตามที่ กมธ. ร่วมกันพิจารณา ด้วยเสียงเอกฉันท์ 289 เสียง มีผู้งดออกเสียง 1 เสียง และหลังจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การประกาศเพื่อใช้เป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป และ 3 ร่าง พ.ร.บ. คือ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ที่ ส.ส.ลงมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่วุฒิสภาแก้ไข และได้ตั้ง กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่ ส.ส. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ได้อภิปรายตำหนิถึงการทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายของวุฒิสภา ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และพบการแก้ไขที่เกินหลักการของร่างกฎหมาย เช่น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ที่พบว่าวุฒิสภาได้แก้ไขมาตรา 3 โดยเพิ่มข้อความในคำนิยามของคำว่าพยาน  "ไม่ให้รวมถึงจำเลยซึ่งศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษและหลบหนี"

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าข้อความที่เพิ่มเติมคือ การเขียนกฎหมายโดยอคติ และเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้สื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไป ทราบได้ว่าหมายถึงใคร ทั้งนี้การเขียนกฎหมายต้องออกโดยทั่วไป เพื่อบังคับใช้กับประชาชนทุกคนเท่าเทียม ไม่ใช่เจาะจงไปยังบุคคลใด โดยการเขียนประโยคดังกล่าวในทางกฎหมายไม่มีประโยชน์ เพราะบุคคลที่หลบหนี กระบวนการยุติธรรมครอบคลุมดำเนินการที่ครบถ้วน ไม่ต้องเขียน และตนมองว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าอาย

"สภาฯ ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่วุฒิสภาแก้ไข ทั้งที่เป็นร่างกฎหมาย ที่สภาฯ พิจารณา 3 วาระจบแล้ว โดยหลักประชาธิปไตย วุฒิสภามีหน้าที่เสาค้ำยัน ตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีประเด็นใดที่บกพร่องหลุดรอดเป็นกฎหมายร้ายแรงแต่สิ่งที่แก้ไข เป็นกระบวนการทำกฎหมายล้ำเกินมายังสภาฯ เพราะกฎหมายของสภาฯ ออกกฎหมาย วุฒิสภากลั่นกรอง แต่สิ่งที่ส่งมาหลายฉบับ แก้ไขทำหน้าที่ร่างกฎหมายเพิ่มประเด็นจากหลักการและเหตุผลที่สภาฯ รับหลักการไว้ ทั้ง พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.สัตวบาล จำเป็นตั้ง กมธ.ร่วมทำให้กฎหมายล่าช้า ดังนั้นควรทำเข้าใจในบทบาทหน้าที่สภาฯ และวุฒิสภาในอนาคต"นายจุลพันธ์ กล่าว

ด้านนายชวน กล่าวว่า เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ส่ง ส.ส.ที่รอบรู้ไปให้เหตุผล ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ความนับถือกัน อย่าไปว่าใคร