"หมอรุ่งเรือง"เผยเหตุหลักพิจารณาโควิดโรคประจำถิ่น

2022-01-12 12:02:15

"หมอรุ่งเรือง"เผยเหตุหลักพิจารณาโควิดโรคประจำถิ่น

Advertisement

"หมอรุ่งเรือง"เผยเหตุในการพิจารณาโควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น ยอดตายเหลือ 0.1%ระบบ สธ.เข้มแข็ง

เมื่อวันที่  12  ม.ค. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (11) นพ.ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังกรมควบคุมโรค กำลังพิจารณาให้โควิด -19 เป็นโรค ประจำถิ่นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของคำว่าโรคประจำถิ่น ไปจนถึงคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงของโรค เริ่มจาก คำว่า โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น มีอัตราป่วย สถานการณ์คงที่ ความรุนแรงลดลง และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา  ต่อมาคือ คำว่า การระบาด (Outbreak) เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ต้องย้ำคำว่า ผิดปกติ ทั้งในกรณีโรคประจำถิ่น แต่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือในกรณีโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว ก็นับว่าต้องจับตาดูเช่นกัน

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า จากนั้นคือคำว่า โรคระบาด (Epidemic) เป็น การระบาดของโรคที่แพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งโรคระบาดที่แผ่ไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นนั้นเป็นการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปี 2557-2559 และคำว่า การระบาดใหญ่ หรือ ระดับการระบาดสูงสุด (Pandemic) เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 (Spanish flu) หรือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของ โควิด ในอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก

"ปัจจุบันโควิด- 19 กำลังเปลี่ยนสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หรือ โรคที่เราสามารถคาดการสถานการณ์ ได้ ด้วยปัจจัยสำคัญคือ เชื้อลดความรุนแรง โดย ปัจจุบันความรุนแรง อัตราป่วยตายโรคโควิด -19 ลดลงเหลือเสียชีวิต 1 ราย จากผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย หรือ 0.1% จากที่ในช่วงแรกของการระบาดตัวเลขข้างต้นสูงถึงมากกว่า 3% นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ ประชาชนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เช่น การฉีดวัคซีน ปละการติดเชื้อก่อนหน้า ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุม ชะลอการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ คือ ความร่วมมือของประชาชน ในการเข้ามารับวัคซีน ไปจนถึงการมีวินัยในการดำรงชีวิต เมื่อการ์ดไม่ตก และร่วมแรวร่วมใจกันต่อไป ย่อม จะเป็นอัตราเร่งให้โควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นโรคที่เราสามารถคาดการณ์ และรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเชิงเศรษฐกิจ สังคมต่อไป"นพ.รุ่งเรือง กล่าว