"ชินวรณ์"เชื่อนายกฯไม่ยุบสภาก่อน ก.ม.ลูกเสร็จ

2022-01-05 13:59:14

"ชินวรณ์"เชื่อนายกฯไม่ยุบสภาก่อน ก.ม.ลูกเสร็จ

Advertisement

"ชินวรณ์" วิเคราะห์การเมือง ปี 65  เชื่อนายกฯไม่ยุบสภาก่อนกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จ

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.  นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองประธานวิปรัฐบาล ได้วิเคราะห์ทางการเมืองปี2565  ว่า จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ 10 ประการ การเมืองในปี 2565 นั้น ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ และใช้ความรู้สึกส่วนตัวและมีอคติ ตลอดถึงเป็นการด้อยค่าระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วย ดังนั้นตนจึงขอวิเคราะห์ในฐานะนักการเมืองที่มีประสบการณ์จริงและอยู่ในวงในการเมืองดังนี้

1. รัฐบาลอยู่ในช่วงแก้วิกฤติของประเทศทั้งวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมือง ความนิยมจึงขึ้นลงตามสถานการณ์ แต่วันนี้มีผลงานที่คนจับต้องได้เช่นกัน เช่นโรคระบาดโควิด 19 ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน 100ล้านโดส เศรษฐกิจกระทบกับโรคระบาดโควิดแต่การเยียวยาก็ข่วยเหลือประชาขนเฉพาะหน้าทุกกลุ่มตั้งแต่แรงงานจนถึงนักเรียนทุกระดับ โดยเฉพาะการประกันรายได้เกษตรกร การเมืองมีทั้งเชิงโครงสร้างและความขัดแย้งทางความคิด แต่รัฐบาลก็รักษาความมั่นคงเพื่อสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

2. การใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาหลักของประเทศ การได้ความนิยมหรือไม่อยู่ที่ความพึงพอใจของประชาชน แต่นายกรัฐมนตรียังไม่มีข้อกล่าวหาในเรื่องทุจริต ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังไม่มีหลักฐานเด็ดที่จะจัดการคณะรัฐมนตรีได้

3. การทำหน้าที่ของ ส.ส. เน้นเรื่องพื้นที่จริงและมีส่วนทำให้สภาล่มซึ่งเป็นภาพลบของสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ประธานรัฐสภาสามารถคุมเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีวาระพิเศษประชุมมากที่สุด ทั้งที่อยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด 19

4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แต่มีข้อจำกัดในกับดักมาตรา256 จึงไม่สามารถให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ การแก้เป็นรายมาตราและข้อเสนอของภาคประชาชนยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา การแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ถือว่าเป็นความสำเร็จในการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ ประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกได้ทั้งคนที่รักและพรรคที่ชอบ ทำให้อิทธิพลการซื้อเสียงลดลง พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น การมโนว่าพรรคใดจะได้ประโยชน์เป็นความคิดที่ดูถูกประชาชน หรือฝังใจที่แพ้การเลือกตั้ง และการเลือกแบบบัตรบัญชีรายชื่อจะไม่มีแลนด์สไลด์เพราะคิดจากฐาน 100 ทุกพรรคมีโอกาสเพราะข้อจำกัดของพรรคเล็กถูกยกเลิกไปแล้ว เช่นคะแนนขั้นต่ำหรือต้องส่งเขตเลือกตั้ง 100 เขต เป็นต้น ปัญหาจึงอยู่ที่ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ผลการเลือกตั้งจึงเป็นที่ยอมรับของประชาชน

5. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในการเลิกอำนาจ ส.ว. เป็นความพยายามของเกือบทุกพรรคการเมือง แต่ไม่ผ่านเสียงกับดัก 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่ต้องเห็นด้วย แต่ในบทเฉพาะกาล ส.ว. ชุดนี้ก็จะหมดอำนาจนี้ในปี 2566 จึงไม่จำเป็นต้องยุบสภาเพื่อหนีการแก้ไขในเรื่องนี้อีก และตามหลักสากล ส.ว. ก็ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

6. ข้อ 6 ข้อ 7 ที่วิเคราะห์บทบาทของพรรคการเมือง เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจเป็นการวิเคราะห์ในมุมแคบเกินไป เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลักคิดในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงอยู่ที่ประชาชนจะเลือกให้ประเทศเดินไปในทิศทางใดระหว่างแนวความคิดยึดคืนอำนาจกับสืบทอดอำนาจ เพราะการตัดสินใจของประชาชนจะอยู่บนคำถามการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ การแก้รัฐธรรมนูญและความคิดการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลักคิดใดนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองมากกว่ากัน

8. การยุบสภาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจริง แต่การยุบสภาเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความขัดแย้งในสภาที่เกียวกับกฏหมายสำคัญหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจว่าควรจะคืนอำนาจให้ประชาชนร่วมตัดสินใจโดยผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ และส่วนใหญ่หากมีการยุบสภานายกรัฐมนตรีก็จะไม่มีโอกาสกลับมาอีก การวิเคราะห์ว่าจะยุบสภาตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 จึงยังไม่มีข้อมูลสนับสนุน ที่สำคัญหากยุบสภาก่อนกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จประมาณเดือน ส.ค. 2565 จึงเป็นการผูกคอตายทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ใช่ภาวะวิสัยของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ยกเว้นโง่เท่านั้น

9. ประเด็นครบ 8 ปี เป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่เป็นประเด็นทางวิชาการและหลักกฏหมาย ความธำรงอยู่ของนายกรัฐมนตรีจึงไม่สามารถสร้างกระแสจากเรื่องนี้ได้ แต่ระยะเวลา 8 ปีเป็นเรื่องความรู้สึกของประชาชนว่าเบื่อหรือไม่ หลักสากลจึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นวาระ ๆ ละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน หรือความรู้สึกของนายกรัฐมนตรีเองว่าผมพอแล้วหรือไม่เท่านั้น

10. การวิเคราะห์เรื่องรัฐประหารหรือเรื่องรัฐประหารซ้อนเป็นความไม่รับผิดชอบของผู้วิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสายตาชาวโลกและนักลงทุน การรัฐประหารในทางการเมืองไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะนักการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่สุจริตไม่มีใครเห็นด้วย และการรัฐประหารหากไม่สำเร็จก็จะเป็นกบฏ หากสำเร็จแต่ประชาชนไม่พึงพอใจก็จะกลายเป็นทรราช