กรมวิทย์เผยไทยพบ "โอมิครอน'" 11 ราย (มีคลิป)

2021-12-13 15:49:39

กรมวิทย์เผยไทยพบ "โอมิครอน'" 11 ราย (มีคลิป)

Advertisement

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน'" 11 ราย คอนเฟิร์มแล้ว 8 ส่วนที่เหลืออีก 2-3 วันรู้ผล ชี้เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศทั้งหมด ด้าน กรมควบคุมโรคยังไม่ฟันธงโควิดเป็นโรคประจำถิ่น อนหนังสือจี้รพ.เอกชน-กทม.ชี้แจงปม โอไมครอนรายแรกในไทย

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยแล้ว 11 ราย อยู่ในกทม. 9 ราย อยู่นนทบุรี 1 ราย และ ชลบุรี 1 ราย ในจำนวนนี้คอนเฟิร์มแล้วว่าเป็นโอมิครอน 8 ราย ส่วนที่เหลือน่าจะทราบผลในอีก 2-3 วัน ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ทั้งตัว ทั้งหมด 403 ตัวอย่าง และรอตรวจอีก 154 ตัวอย่าง ทั้งนี้ยืนยันยังไม่มีสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริด

สำหรับรายละเอียด 4 รายแรกได้มีการรายงานไปแล้ว คือ ชายชาวเมริกัน หญิงไทย 2 รายกลับจากไนจีเรีย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายที่ 4 ซึ่งรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นชายไทยอายุ 41 ปี เดินทางมาจากดิอาร์คองโก ยังไม่ได้คอนเฟิร์ม เนื่องจากตัวอย่างเชื้อไม่มาก ทำให้ตรวจได้ช้า ส่วนรายที่ 5 เป็นชายไทยอายุ 39 ปี เดินทางมาจากไนจีเรีย รายที่ 6 เป็นชายโคลัมเบียอายุ 62 ปี มีโรคประจำตัวขณะนี้นอนอนอยู่โรงพยาบาล รอหว่างรอคอนเฟิร์มเช่นกัน เดินทางมาจากไนจีเรีย รายที่ 7 เป็นชายอังกฤษ อายุ 51 ปี เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร รายที่ 8 เป็นชายไทย อายุ 37 ปี เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ รายที่ 9 เป็นชายอเมริกัน อายุ 40 ปี เดินทางมาจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รายที่ 10 เป็นชายเบลารุส อายุ 51 ปี เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรายที่ 11 เป็นอังกฤษ อายุ 31 ปี เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร รอคอนเฟิร์มเช่นกัน


ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั่วโลกยังมีรายงานติดเชื้อรายใหม่ และการระบาดในหลายพื้นที่ แต่อัตราการเสียชีวิตคงตัว และมีแนวโน้มลดลง ส่วนโอมิครอนทั่วโลก 69 ประเทศ โดยมี 20 ประเทศที่เป็นรายงานการติดเชื้อในประเทศเอง ส่วนประเทศไทยยังเป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ เบื้องต้นมี 11 ราย ยืนยันแล้ว 8 ราย ส่วนใหญ่มาจากระบบ Test & Go 5 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. ระบบ Sandbox 3 ราย และ Quarantine 3 ราย

นพ.วิชาญ กล่าวว่า มีการพยากรณ์มาตรการที่ดำเนินการ จะเห็นว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้ ดังนั้นมาตรการการเปิดประเทศไม่ได้ส่งผลในเรื่องการเกิดการระบาดใหญ่เหมือนหลายคนกังวล สอดคล้องกับอัตราการเสียชีวิตลดลงเช่นกัน ทั้งนี้การระบาดขณะนี้เป็นลักษณะขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในชุมชน สถานประกอบการ แคมป์คนงาน ตลาด โรงเรียน และพบสัดส่วนผู้เดินทางเข้าประเทศในระบบ Test & Go เพิ่มมากขึ้น และมีรายงานพบการติดเชื้อหลังเดย์ 0 บ้าง ดังนั้นทำให้ต้องติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงค่อนข้างที่จะมาก ที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนและแจ้งเตือนผู้เข้าสู่ระบบ เพื่อดำเนินการค้นหาต่อไป และเน้นมาตรการฉีดวัคซีน โควิด ฟรีเซตติ้ง และเรื่องการตรวจ ATK ส่วนประชาชนต้องเน้นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล

นพ.วิชาญ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือไม่นั้นจากข้อมูลที่รับรายงาน และการตรวจ ATK พบสถานการณ์ลดลง เป็นสัญญาณที่ดี เป็นขาลงในบ้านเรา อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางฝ่ายวิชาการยังมีการหารือเรื่องการกำหนดเกณฑ์การตัดคะแนน หรือการยอมรับเรื่องการติดเชื้อรายใหม่ที่ระดับใด ซึ่งจะประเมินหลายเรื่อง ทั้งศักยภาพการรับมือ การดูแลรักษาผู้ป่วย และหลายๆ ปัจจัยรวมกัน รวมถึงสถานการณ์โลกด้วย ขณะนี้ยังไม่มีใครฟันธงว่า ต้องขีดเส้นเท่าไหร่ แต่ในเชิงการควบคุมโรคจะมีระดับที่อ้างอิงอยู่ ซึ่งเราก็พยายามจะกดลงมาให้มากที่สุด เช่น อย่างกทม.และปริมณฑลขีดเส้นอัตราการติดเชื้อไม่เกิน 5-10 ต่อแสนประชากร ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เตียงไม่ล้น แต่ปัจจุบันอยี่ที่ 9 ต่อแสนประชากร ถ้าจะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่นต้องต่ำกว่า 5 ต่อ แสนประชากร ดังนั้นตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีใครกำหนด

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะมีการระบาดขึ้นในช่วงปีใหม่ ยิ่งมีการอนุญาตให้เคาท์ดาวน์ได้ นพ.วิชาญ กล่าวว่า ทั้งนี้วัคซีนจะช่วยป้องกันอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต และป้องกันระบาดได้ เพราะการติดต่อจะน้อยลง ส่วนเรื่องสายพันธุ์ที่กังวลโอไมครอน แต่ที่อยากให้ทำมากที่สุดตอนนี้ คือการเฝ้าระวังการเข้ามา โดยเฉพาะกรณี Test & Go จะต้อง Test ให้ผลออกมาก่อน แล้วค่อย Go ต้องรัดกุมให้เต็มที่ หากให้ออกมาก่อนที่ผลจะออกอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าที่ผ่านมามีปัญหาให้คนต่างชาติออกมาก่อนผลตรวจออกมาหรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า มี เช่น กรณีผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกที่เป็นชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปน ซึ่งกรณีนี้เกิดจากความเข้าใจที่คาดเคลื่อน โดยแพทย์ผู้ทำการตรวจพบว่าค่า CT สูง จึงเข้าใจผิดว่าเป็นการติดเชื้อเก่า จึงปล่อยไป แต่จริงๆ ผิดข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค ที่ระบุว่า หากตรวจเจอเชื้อก็ขอให้กักตัว และทำการตรวจให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเชื้อใหม่ หรือซากเชื้อ ซึ่งเมื่อก่อนการเข้าประเทศไทยตามระบบกักตัว ก็ไม่มีปัญหา แต่กรณีนี้เป็น Test & Go จึงต้องระมัดระวัง และตรวจสอบจนแน่ใจ ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือไปยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ และกรุงเทพมหานครให้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่าผิดจากข้อกำหนดอย่างไร เพราะจะเสียทั้งระบบเมื่อไม่ปฏิบัติตาม