โควิดสายพันธุ์โอมิครอน

2021-12-10 16:40:03

 โควิดสายพันธุ์โอมิครอน

Advertisement

โควิดสายพันธุ์โอมิครอน

ขณะที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศ รวมทั้งการผ่อนคลายกิจกรรมต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการได้ด้วยความระมัดระวังแบบวิถีใหม่ (new normal) ก็มีหลายประเทศมีการระบาดอย่างรุนแรง จนต้องปิดประเทศ หรือบางภูมิภาคอีกครั้ง ยังมีความกังวลเกี่ยวกับข่าวที่โด่งดังมากที่สุดในขณะนี้ เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 สายโอมิครอน (Omicron) จนมีข่าวหุ้นตกลงไปทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจด้วย

โควิด-19 กลายพันธุ์สายโอมิครอน(Omicron) คืออะไร

องค์กรอนามัยโลกได้ประกาศเกี่ยวกับโควิด-19 กลายพันธุ์สายโอมิครอน (Omicron) หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์ B.1.1.529 โดยกลุ่มที่ให้คำปรึกษาทางเทคนิคเกี่ยวกับการปรับสายพันธุ์ของไวรัสซาร์โควีสอง ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด หรือที่เรียกว่ากลุ่ม The Technical Advisory Group on SARS-CoV-2 Virus Evolution (TAG-VE) ได้รายงานถึงความกังวลกับสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยที่สายพันธุ์นี้พบครั้งแรกในประเทศอาฟริกาใต้โดยใช้การตรวจเลือดของวันที่ 9 พ.ย. 2564 และมีการรายงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 พ.ย. 2564 ต่อมาพบในประเทศอิสราเอล บอสวานา เบลเยี่ยม และในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงของประเทศจีน

เชื้อนี้มีความสำคัญอย่างไร

ทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน แพร่เชื้อได้เร็วขึ้น และสามารถกลับเป็นซ้ำได้ ที่สำคัญคือ การใช้วิธีการตรวจโดยวิธีพีซีอาร์ ซึ่งเป็นการตรวจสารทางพันธุกรรม พบว่ายีนส์เอส ซึ่งเป็นหนึ่งในยีนส์ที่ค้นหาอาจจะไม่พบ เรียกกันว่า S gene dropout หรือ S gene target failure ซึ่งก็มีการนำการค้นพบนี้มาเป็นตัวแทนที่บอกว่าอาจจะพบสายพันธุ์โอมิครอนนี้ ระหว่างรอการยืนยันผลเพิ่มเติม การใช้วิธีนี้ทำให้เกิดการค้นพบสายพันธุ์นี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้องค์การอนามัยโลกตัดสินใจประกาศให้สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern; VOC)

ขณะนี้เริ่มมีมาตรการอะไรแล้วบ้าง

บางประเทศเริ่มตัดสินใจยกเลิกหรือจำกัดการเดินทางเข้าและออกจากประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ตัวอย่างเช่น

-สหราชอาณาจักรได้ประกาศห้ามเข้าประเทศสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ นามิเบีย ซิมบับเว่ บอสวาน่า เลซอโท และเอสวาทินี แต่ยังมีข้อยกเว้นว่า ผู้ที่เดินทางนั้นเป็นคนสัญชาติสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรแต่เดิม ซึ่งกฎนี้จะเริ่มใช้ในวันที่ 28 พ.ย. 2564

-ประเทศในสหภาพยุโรปและสวิสเซอร์แลนด์ก็ได้หยุดเครื่องบินที่เข้าออกจากบางประเทศในแถบแอฟริกาใต้

-ประเทศญี่ปุ่นประกาศตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2564 ว่าผู้ที่เดินทางจากประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ต้องอยู่ในสถานที่กักตัวเป็นเวลา 10 วันและในระหว่างนี้ต้องตรวจหาเชื้อรวม 4 ครั้ง

ในระดับประเทศที่ยังไม่มีการระบาด เช่น ประเทศไทยของเรา ควรจะทำอย่างไรบ้าง

-รายงานผู้ติดเชื้อใหม่ รวมทั้งการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ที่เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลเข้าในระบบที่สร้างไว้ ที่เรียกว่า IHR

-เพิ่มการสำรวจสายพันธุ์ในประเทศ และ ส่งข้อมูลสายพันธุกรรมทั้งเส้นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้าไปยังฐานข้อมูลสากล เช่น GISAID

-หากเป็นไปได้ คือประเทศที่มีทรัพยากรเพียงพอ ควรทำการงานวิจัยทางระบาดวิทยา เพื่อให้เข้าใจโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการวินิจฉัย ความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพป้องกันจากการดำเนินการทางสาธารณสุข การตอบสนองทางอิมมูนวิทยา ประสิทธิภาพของวัคซีน และลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แล้วประชาชนแต่ละคนควรทำอย่างไรบ้าง

ใช้มาตรการป้องกันตนเอง ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้ของร่วมกัน รักษาระยะห่าง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศ เลี่ยงบริเวณที่แออัด และรับวัคซีนโควิด-19

การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สะอาดและครบหมู่ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

นอกจากนี้อย่าลืมติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด มีความระมัดระวังในการรับข่าวที่อาจไม่เป็นความจริงหรืออาจจะเป็นอันตรายได้ เช่น ใช้วิธีการหรือสารที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้ เป็นต้น

อ้างอิง

https://www.who.int/news/item/26-11-2021-classification-of-omicron-(b.1.1.529)-sars-cov-2-variant-of-concern Accessed on 27th November 2021

https://www.bbc.com/news/world-59438723 Accessed on 27th November 2021

อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ

ภาคอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล