ฟ้าผ่าเปรี้ยง !! ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "พุทธิพงษ์" พร้อมอดีตแกนนำ กปปส. พ้น ส.ส.

2021-12-09 15:25:25

ฟ้าผ่าเปรี้ยง !! ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "พุทธิพงษ์" พร้อมอดีตแกนนำ กปปส. พ้น ส.ส.

Advertisement

ฟ้าผ่า !! ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "พุทธิพงษ์" พร้อมอดีตแกนนำ กปปส. พ้น ส.ส. ต้องเลือกตั้งซ่อม 2 เขต-เลื่อน 2 ส.ส.บัญชีรายชื่อ เจ้าตัวน้อมรับคำตัดสินศาล รธน.รับเจ็บปวดแต่ต้องอดทน ...



เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยพร้อมพวกให้พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. จากกรณีถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2557






ทั้งนี้ เจ้าตัวได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า



"จากข้าราชการธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่มีความฝันว่าอยากจะช่วยเหลือประเทศของตัวเอง บอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากทำงานการเมือง ตั้งใจอยากจะทำอะไรดีๆ ให้บ้านเมืองบ้าง หลายๆคนก็เตือนว่ามันไม่ง่ายเพราะเราไม่ได้มีฐานการเมืองเหมือนคนอื่น ต้องเริ่มทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่เราก็ตัดสินใจเดินตามความฝันของตัวเอง จากการตัดสินใจในวันนั้นมาถึงวันนี้ 20ปีเต็ม ผ่านเรื่องราวมากมาย ได้พบกับสิ่งดีๆ ประสบการณ์ดีๆ มากมาย ที่สำคัญได้พบกับประชาชนที่ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ...



... ตั้งแต่เป็น ส.ส กรุงเทพฯ สมัยแรก เขตพญาไท เขตราชเทวี และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ตามด้วยสมัยต่อมาเขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง จนมาเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่3 ของพรรคการเมืองหลักของรัฐบาลนี้ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่อีก 1 ปี 6 เดือน ตลอด 20 ปีผมเชื่อมั่นในเสียงประชาชน เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย ลงสมัครและเป็น ส.ส ที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อมั่นในทุกๆคะแนนและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้มาตลอด วันนี้ก็คงถึงเวลาที่ต้องพักงานการเมืองที่รักและทุ่มเทมาตลอดแล้ว ด้วยคำพิพากษาที่เกิดขึ้น คงสะท้อนอะไรหลายๆอย่างในกระบวนการยุติธรรม แต่เราอยู่ภายใต้กฏและกติกา ก็ต้องรับในคำตัดสินนั้น ขอบพระคุณในทุกๆกำลังใจที่มอบให้ผมมาโดยตลอด ผมยืนยันในอุดมการณ์และความตั้งใจที่ดีต่อประเทศชาติไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่โอกาสที่จะทำหน้าที่ทางการเมืองจากนี้คงลดลง ความตั้งใจดีที่ทำมาคงพอมีเหลือให้ได้คิดถึงกันบ้างนะครับ เจ็บปวดแต่ก็ต้องอดทน"





โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ 5 อดีตแกนนำ กปปส. ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายชุมพล จุลใส ส.ส. ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป., นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป., นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

ทว่าในกรณีนายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล ที่ต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. 3 คนสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และ 96 (2)



ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ทั้ง 5 คนพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. นับจากวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณา และสั่งให้บุคคลทั้ง 5 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย



ตุลาการศาลรัฐธรรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของบุคคลไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 มาเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) เนื่องจาก "การดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ส.ส. ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้นจะต้องมีความประพฤติและมีคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสาธารณชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรีต่อสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. จึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้"

มาตรา 96 (2) และมาตรา 98 (6) บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อน





ย้อนกลับไปเมื่อ 24 ก.พ. ศาลอาญาพิพากษาจำคุกแกนนำ กปปส. รวม 26 คน เป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน และไม่อนุญาตให้ประกันตัว 8 แกนนำ ส่งผลให้พวกเขาถูกส่งตัวไปคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 คืน ก่อนได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี

ทั้งหมดตกเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และข้อหาอื่น ๆ จากการจัดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2556-2557

ในจำนวน 8 คนที่ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำ มีอยู่ 5 คนที่มีสถานภาพรัฐมนตรี และ ส.ส. ในวันต้องคำพิพากษา ประกอบด้วย

นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร ปชป. ถูกสั่งจำคุก 9 ปี 24 เดือน

นายอิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ถูกสั่งจำคุก 7 ปี 16 เดือน

นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย และ ส.ส.สงขลา ปชป. ถูกสั่งจำคุก 5 ปี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ถูกสั่งจำคุก 7 ปี

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ถูกสั่งจำคุก 6 ปี 16 เดือน

คำพิพากษาของศาลอาญา ทำให้ 3 รัฐมนตรีต้องพ้นจากเก้าอี้ฝ่ายบริหารทันที เพราะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตาม 160 (7) และมาตรา 170 (4) ของรัฐธรรมนูญ แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม และนำไปสู่การปรับ ครม. ประยุทธ์ 2/4



นอกจากโทษอาญา ศาลชั้นต้นยังสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล เป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาด้วย ซึ่งเป็นบทลงโทษจากความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้ หรือที่ถูกเรียกขานว่าปฏิบัติการ "ปิดคูหาเลือกตั้ง" เมื่อปี 2557

กกต. เห็นว่า นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ส่วนนายพุทธิพงศ์ และนายถาวร เป็นบุคคลต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของบุคคลทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4 ) (6) และมาตรา 96 (2) และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายพุทธิพงษ์ นายถาวร และนายณัฏฐพล สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) (7) มาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2)

ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณา และสั่งให้บุคคลทั้ง 5 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย แต่ไม่ได้รับพิจารณาปมขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการประกาศว่าทั้ง 3 คนพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตั้งแต่ 22 มี.ค.



7 ข้อโต้แย้งจาก กปปส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "ฟังไม่ขึ้น"

ในระหว่างอ่านคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้บรรยายข้อโต้แย้งและข้อต่อสู้ของบรรดาแกนนำ กปปส. ที่ตกเป็นผู้ถูกร้องในคดีนี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "ฟังไม่ขึ้น"

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญไว้ ดังนี้

1. การถูกดำเนินคดีอาญามาจากการชุมนุมเพื่อแสดงออกความเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่า "เป็นการใช้สิทธิและสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ"

สิ่งที่กล่าวอ้างมาเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แม้การชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าปรากฏว่ามีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) หรือกฎหมายอื่นใด เป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย

"ศาลไม่ได้รับรองการกระทำซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อาญา หรือกฎหมายอื่นใด ตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง" 

2. คำสั่งศาลอาญาที่ส่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ไม่ชอบด้วย ป.วิอาญา และระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และการจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา และส่งตัวทั้ง 5 คนไปคุมขังระหว่าง 24-26 ก.พ. ไม่ใช่การคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6)

การที่ศาลอาญาไม่ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยให้ส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง เป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องในคดีของศาลอาญา เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 106 (4) ที่ให้อำนาจไว้ เมื่อยังไม่มีคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ปล่อยตัว ศาลอาญาจึงต้องออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาตามผลของคำพิพากษาลงโทษจำคุก และส่งตัวทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อันเป็นการพิจารณาคดีที่อยู่โดยขอบเขตการใช้อำนาจของศาลยุติธรรม ผู้ถูกร้องทั้ง 5 จึงถูกคุมขังโดยหมายศาล

3. การคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ต้องถูกคุมขังอยู่จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องถูกคุมขังอยู่จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

4. รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ส.ส. ในระหว่างสมัยประชุม การที่ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกจะมาประชุมสภา

ความคุ้มกันของ ส.ส. เป็นสถานะพิเศษที่รัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้นเพื่อให้สมาชิกสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ โดยไม่อาจถูกจับกุม คุมขัง หรือเรียกตัวไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา หรือการพิจารณาคดีอาญาต้องไม่มีลักษณะขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา อย่างไรก็ตามศาลมีอำนาจพิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสภาก่อน เพียงแต่การพิจารณาต้องไม่ขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา

แม้การอ่านคำพิพากษาและการคุมขังจะอยู่ระหว่าง 24-26 ก.พ. ซึ่งอยู่ระหว่างสมัยประชุม แต่ก็มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดสมัยประชุมสภา ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. แล้ว

ป.แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1 (8) และ ป.วิอาญา มาตรา 15 บัญญัติให้กระบวนพิจารณาคดีหมายความว่ากระบวนการพิจารณาในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นจะชี้ขาด ตัดสิน หรือจำหน่ายคดี หรือมีคำสั่ง และยังบัญญัติด้วยว่าให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเปิดเผยหลังเสร็จการพิจารณา หรือภายใน 3 วันนับแต่วันเสร็จคดี ถ้ามีเหตุจะเลื่อนอ่านก็ได้แต่ต้องจดเหตุนั้นไว้ ดังนั้นการอ่านคำพิพากษาหรือการคุมขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา จึงไม่ใช่กระบวนการพิจารณาก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นกระบวนการหลังศาลชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว ไม่อยู่ในความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ ที่มุ่งคุ้มครองสมาชิกระหว่างการพิจารณาคดี กรณีที่การพิจารณาคดีของศาลเสร็จสิ้น จนถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาย่อมไม่อาจอ้างความคุ้มกันของ ส.ส. ได้

5. มาตรา 98 (4) และมาตรา 98 (6) บัญญัติลักษณะต้องห้ามก่อนการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เท่านั้น

รัฐธรรมนูญมาตรา 101 กำหนดเหตุการสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส. และมาตรา 98 กำหนดลักษณะบุคคลไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หาก ส.ส. มีลักษณะต้องตามมาตรา 98 (4) และมาตรา 98 (6) ระหว่างดำรงตำแหน่ง ย่อมเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงได้ ไม่ใช่ลักษณะต้องห้ามขณะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เท่านั้น

6. กรณีศาลมีคำสั่งตามมาตรา 96 (2) ต้องเป็นกรณีคดีถึงที่สุดแล้ว

สมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (2) บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ จึงเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยใช้ข้อความว่า "ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่" สอดคล้องกับหลักการที่ว่าคำพิพากษาของศาลย่อมมีผลบังคับใช้ได้ จนกว่าศาลสูงจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพลัน ตามมาตรา 96 (2) และเข้าลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัคร ส.ส. ตามมาตรา 98 (4)

"การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 เพราะต้องการให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร การที่ ส.ส. ผู้ใดกระทำความผิด จนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันต้องด้วยลักษณะต้องห้าม ส.ส. ตามมาตรา 98 (4) ส.ส. ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ ไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในการเมืองอื่น ๆ อีกด้วย" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่ง

รัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพ โดยใช้ถ้อยคำต่างกัน แยกได้หลายลักษณะ แสดงให้เห็นว่ามีเจตนารมณ์ให้สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุหลายประการ ตามบริบทของข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน และไม่ได้ขัดแย้งกันเอง

เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ เป็นไปตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่น ย่อมหมายความว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ต้องรอคดีถึงที่สุดก่อน

7. การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องเป็นไปตามมาตรา 101 (13) ที่ "ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก"

รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. แตกต่างกันหลายลักษณะ และสิ้นสุดได้ด้วยเหตุหลายประการตามบริบทของข้อเท็จจริงของผลแห่งคำพิพากษาที่แตกต่างกัน

เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ เป็นไปตามมาตรา 98 (6) ซึ่งใช้คำว่า "ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล" โดยไม่มีคำว่าถึงที่สุด จึงมีความหมายว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกเท่านั้น โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน กรณีทั้ง 5 จึงตกอยู่ภายใต้มาตรา 98 (6)

เลือกตั้งซ่อม 2 เขต เลื่อน 2 ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ผลจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในคดี 5 ส.ส. กปปส. สร้างความเปลี่ยนแปลงในสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. 2 เขต แทนตำแหน่งที่ว่างลง ภายใน 45 วันนับจากวันนี้ (8 ธ.ค.)

ส.ส.สงขลา เขต 6 แทนนายถาวร

ส.ส.ชุมพร เขต 1 แทนนายชุมพล

ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องประกาศให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อยู่ในลำดับถัดไปของ 2 พรรครัฐบาล เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่างลง ภายใน 7 วันนับจากวันนี้ (8 ธ.ค.)

ปชป. นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 26 จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทนนายอิสสระ

พปชร. นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 22 จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทนนายพุทธิพงษ์

ส่วนกรณีนายณัฏฐพลได้ลาออกจากเป็น ส.ส. ตั้งแต่ 29 พ.ค. และสำนักงานเลขาธิการสภาได้เลื่อนนายยุทธนา โพธสุธน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 21 พปชร. ขึ้นมาเป็น ส.ส. แทนแล้ว ตามประกาศสภาเมื่อ 31 พ.ค.

กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดชุมนุมครั้งแรกเมื่อ 31 ต.ค. 2556 บริเวณ ถ.เลียบสถานีรถไฟสามเสน กรุงเทพฯ เพื่อต่อต้านการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม "ฉบับสุดซอย" ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งในเชิงปริมาณผู้เข้าร่วม และระยะเวลาการปักหลักบนท้องถนนอย่างยืดเยื้อถึง 204 วัน ก่อนจะสิ้นสุดในวันที่ 22 พ.ค. 2557 เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจ