แจ้งความดำเนินคดีเจ้าของที่ดินทิ้งกากของเสีย

2021-12-07 14:39:58

แจ้งความดำเนินคดีเจ้าของที่ดินทิ้งกากของเสีย

Advertisement

ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แจ้งความดำเนินคดีผู้ครอบครองที่ดินทิ้งกากของเสีย จ.ฉะเชิงเทรา

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.  นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ได้มาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสนามชัยเขต เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ครอบครองที่ดินเขตพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สปก.) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ฐานปล่อยให้มีกากของเสียอยู่ในพื้นที่ที่ครอบครอง โดยกากของเสียดังกล่าว เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งการมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามนัยมาตรา 23 ประกอบกับมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัตวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ ที่ดินแปลงดังกล่าว (ระวาง 5336 8016 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จัดให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์

นายพิทยา ยังกล่าวอีกว่า นอกจากผู้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีความผิดในทางอาญาแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบในการขจัดมลพิษในพื้นที่ดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิมอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียในเขตพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สปก.) นั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน และจากการตรวจสอบของ คพ. โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พบว่า ของเสียดังกล่าวมีลักษณะเป็นน้ำเสียและน้ำมันใช้แล้ว มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง มีน้ำเสียรั่วซึมออกลงสู่ร่องน้ำเข้าสู่สวนปาล์มใกล้เคียง และในเบื้องต้นจากการตรวจวัดการปนเปื้อนของโลหะหนักในตัวอย่างกากของเสียด้วยเครื่องวิเคราะห์โลหะหนักแบบพกพา XRF (X-Ray Fluorescence) ตรวจพบทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) และปรอท (Hg) ในระดับสูงกว่าปริมาณความเข้มข้นที่กำหนดขององค์ประกอบสิ่งเจือปน (ค่า Total Threshold Limit Concentration (TTLC) นอกจากนี้ กากของเสียที่มีการลักลอบทิ้งในบ่อดินดังกล่าวอาจเป็นกากของเสียผสมจากหลายแหล่งที่มา เนื่องจากมีการตรวจพบไอระเหยสารอินทรีย์ (VOCs) ด้วย