"หมอธีระ"แนะยุทธศาสตร์ป้องกัน "โอไมครอน"

2021-12-03 10:03:55

"หมอธีระ"แนะยุทธศาสตร์ป้องกัน "โอไมครอน"

Advertisement

"หมอธีระ"เตือนอย่าประมาท "โอไมครอน"แนะยุทธศาสตร์ป้องกัน ขันน็อตตรวจคัดกรองโรค กักตัว ระบบติดตามตัว ระบุภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากเคยติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันได้

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจ Thira Woratanarat ระบุว่า ตอนนี้โอไมครอน ( Omicron ) ระบาดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว 3 วันที่ผ่านมา ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันเพิ่มจาก 4,373 เป็น 8,561  วันนี้รายงานเพิ่มเป็น 11,535 คน และมีอัตราการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า นอกจากนี้จากข้อมูลของ Dr.Ridhwaan Suliman สัดส่วนของการตรวจพบสายพันธุ์ Omicron ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบ่งถึงศักยภาพในการระบาดวงกว้าง ซึ่งจะมาจากสมรรถนะของการแพร่เชื้อติดเชื้อ หรือการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน หรือทั้งสองอย่าง คงต้องรอติดตามผลการวิจัยที่จะออกมาในเวลาถัดจากนี้

ยุทธศาสตร์การป้องกันโอไมครอนของไทย

1. ไม่ควรบอกว่าเอาอยู่ คุมได้ เพื่อหวังจะสร้างความเชื่อมั่น เพราะไม่มีใครในโลกที่จะเชื่อมั่นในเรื่องนี้ได้ ในเมื่อยังไม่รู้จักข้าศึกอย่าง Omicron ดีพอ ทั้งเรื่องสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อ การป่วย การตาย และการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ขนาดประเทศแอฟริกาใต้ที่เคยผ่านการระบาดหนักมากมาหลายระลอก คนติดเชื้อจำนวนมากที่อาจมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งหลังติดเชื้อ ก็กำลังเผชิญการระบาดหนักอยู่ขณะนี้ ดังนั้นจึงควรยืนอยู่บนความไม่ประมาท มองเป็น worst case scenario ไว้ จะได้เตรียมรับมืออย่างเข้มงวดเข้มแข็ง ประชาชนก็จะได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โอกาสมีพฤติกรรมการป้องกันก็จะมากขึ้น โอกาสรอดและรับมือได้จะมากกว่า

2. ตอนนี้ระบาดกระจายไปทั่วโลกแล้ว ทุกทวีป และขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรทบทวนนโยบายเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ควรขันน็อตการตรวจคัดกรองโรค การกักตัว ระบบติดตามตัว รวมถึงเร่งขยายจุดบริการตรวจ RT-PCR ของประเทศเตรียมรับมือความต้องการที่จะมากขึ้นยามที่เกิดการระบาด ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ใช่แค่จากทวีปแอฟริกาอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการพบเคส

อัพเดตข้อมูลจากการวิจัยเกี่ยวกับ Omicron

Omicron สามารถติดเชื้อในคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน ได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 2.4 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น 1.88-3.11 เท่า)การวิจัยของ Pulliam JRC และคณะ จากแอฟริกาใต้ ศึกษาพบว่าตั้งแต่ มี.ค. 2020 จนถึง พ.ย. 2021 มีคนที่ติดเชื้อซ้ำกว่า 35,000 คนตั้งแต่ระลอกสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่น มาเป็นสายพันธุ์เบต้า เดลต้า และมาถึงโอไมครอนในปัจจุบัน หากวิเคราะห์อัตราการติดเชื้อซ้ำ (reinfection) ตามสายพันธุ์ จะพบว่าสายพันธุ์เบต้ากับเดลต้านั้นมีอัตราการติดเชื้อซ้ำที่น้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่สำหรับโอไมครอนกลับพบว่ามีการติดเชื้อซ้ำมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งอาจบอกให้เราเข้าใจได้ว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้นน่าจะไม่สามารถป้องกันโอไมครอนได้

ประโยชน์ที่เราได้จากข้อมูลนี้คือ คนไทยกว่าสองล้านคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ยังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องตระหนัก และป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดกันทุกคน ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก อยู่ห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร

ขอบคุณเพจ Thira Woratanarat