"พิธา"ชำแหละ ปชต.แบบไทย ๆ อนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเป็นไม้ประดับ ชี้วุฒิสภาควรถอดรื้อออกไป
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พี่น้องประชาชนร่วมกันลงชื่อเข้ามารอบนี้มากกว่าหนึ่งแสนคน เป็นข้อเสนอที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างเป็นระบบ มีหัวใจที่สำคัญที่สุด คือ การสถาปนาให้อำนาจของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด ผ่านการยกเลิกวุฒิสภา สร้างระบบสภาเดี่ยว แก้ไขที่มาและอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ คณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อปลดโซ่ตรวนอนาคตของประเทศ และล้างมรดกรัฐประหาร หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย
นายพิธา อภิปรายต่อว่า การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญโดยกองทัพเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2490 ถือเป็นการตอบโต้การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร วุฒิสภาอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้มาจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 สำหรับสังคมไทย วุฒิสภาจึงไม่ได้มีที่มาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์อะไรเหมือนอังกฤษ หรือไม่ได้มีที่มาจากการความจำเป็นของรูปแบบรัฐเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา แต่วุฒิสภาของไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่คณะรัฐประหารกับกลุ่มชนชั้นนำจารีตออกแบบมาเพื่อกำกับควบคุมและกดทับอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง โดยหลอกเราในหนังสือเรียนว่าจำเป็นต้องมีวุฒิสภาเพื่อช่วยกลั่นกรองกฎหมาย หรือเพื่อสร้างกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ วุฒิสภาจึงเป็นป้อมปราการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ประชาชนและผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากประชาชนควรถอดรื้อออกไป
“ผมและสมาชิกพรรคก้าวไกลไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับนี้ เพราะนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปมปัญหาใจกลางของสิ่งที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆซึ่งก็คือระบอบการเมืองที่อนุญาตให้มีประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเล็กๆ น้อยๆ เป็นไม้ประดับ ตราบเท่าที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ไปกระทบกับอำนาจของชนชั้นนำจารีตพวกเราถูกฝังหัวมาโดยตลอดว่าปัญหาของการเมืองไทยนั้น เกิดขึ้นจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เวลาเราจะปฏิรูปการเมืองกัน จึงพุ่งเป้าไปแต่การจัดการกับสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ซึ่งได้อำนาจโดยตรงมาจากประชาชน ไม่ปฏิเสธว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งยังมีปัญหาต้องแก้ไขปรับปรุงอีกหลายอย่าง แต่ผมอยากจะบอกว่า นักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันตรายยิ่งกว่า เครือข่ายนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เป็นอภิสิทธิ์ชน ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ บางทีวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังไม่ได้ เครือข่ายอำนาจเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่เหนืออำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะในนามความมั่นคงของชาติ ในนามตุลาการภิวัตน์ หรือในนามองค์กรอิสระที่อิสระอย่างสิ้นเชิงจากประชาชน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรต้องมาช่วยกันออกแบบระบบการเมืองกันใหม่ ให้อำนาจสูงสุดของประชาชน ปรากฎเป็นจริงให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีระบบการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพและยึดโยงกับประชาชน ไม่เช่นนั้นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้าวลึกลงเรื่อยๆ ในรอบเกือบสองทศวรรษ จะไม่สามารถคลี่คลายลงไปได้”นายพิธา กล่าว