"ไอติม"ดักคอคว่ำร่าง รธน.เท่ากับไม่ไว้วางใจ ปชช.

2021-11-16 12:29:10

"ไอติม"ดักคอคว่ำร่าง รธน.เท่ากับไม่ไว้วางใจ ปชช.

Advertisement

รัฐสภาเริ่มถกร่าง  รธน.ฉบับ  ปชช. "ไอติม"ดักคอคว่ำร่างเท่ากับไม่ไว้วางใจ ปชช.ท้าให้ไปวัดที่การทำประชามติ ด้าน "ปิยบุตร"ริบอำนาจศาล รธน. ล้มคำสั่ง คสช.นำคนรัฐประหารมาลงโทษ

เมื่อเวลา 09.30น. วันที่ 16 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....ฉบับภาคประชาชนที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)  ชี้แจงผลการประชุมร่วมวิป 3ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีเวลาอภิปราย 18 ชั่วโมง โดยให้ผู้เสนอร่างอภิปราย 3 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ว.ฝ่ายละ 5ชั่วโมง จะเริ่มอภิปรายเวลา 09.00 วันที่ 16 พ.ย. ถึงเวลา 03.00น. วันที่ 17 พ.ย. และลงมติวาระรับหลักการโดยการขานชื่อรายบุคคลในเวลา 10.00น.วันที่ 17 พ.ย.

จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับภาคประชาชน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ชี้แจงหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า ประเทศไทยเป็นผู้ป่วยร้ายแรง 3โรค คือ 1.โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ 2.โรคเหลื่อมล้ำเรื้อรัง 3.โรคประชาธิปไตยหลอกลวง เป็นผลจากไวรัส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สิ่งที่อันตรายกว่าไวรัสตัวนี้คือ ระบอบประยุทธ์ ที่มีรัฐธรรมนูญปี2560 ปกป้องอยู่ เพื่อสืบทอดอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์ มีกลไกต่างๆที่ควบคุมได้เบ็ดเสร็จจากส.ว. องค์กรอิสระ ช่วยผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะบริหารประเทศอย่างไร

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้ประเทศแข็งแรงผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อฆ่าไวรัส  พล.อ.ประยุทธ์ โดยต้องมีรัฐธรรมนูญภาคประชาชน เป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 1ให้ประเทศไทย มีข้อเสนอ 4ข้อคือ 1.ยกเลิกส.ว.ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว เพราะส.ว.ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่มีที่มายึดโยงจากประชาชน รัฐสภาดีที่สุดคือ รัฐสภาที่ไม่มีวุฒิสภา มีข้อดีคือช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เงินเดือน ส.ว.บวกที่ปรึกษา ผู้ติดตาม อยู่ที่ 800 ล้านบาทต่อปี รวมค่าน้ำ ค่าฟ้า ค่าประชุม มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รู้คุ้มค่าหรือไม่ และช่วยให้มีกระบวนการนิติบัญญัติรวดเร็ว กระชับ ส่วนข้อกังวลการยกเลิกส.ว.นั้น จะมีกลไกอื่นมาทดแทนได้และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า หากกังวลควรมีส.ว.อยู่เพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนั้น ขอให้เพิ่มอำนาจส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลแทน การให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐได้ละเอียดขึ้น การออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงการทุจริต ข้อทักท้วงการทุจริตต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น กรณีเรือดำน้ำ เกิดจากการทักท้วงของประชาชน ไม่ใช่การทักท้วงจาก ส.ว.

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า 2.การเสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20ปีและแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน การกำหนดแนวทางบริหารประเทศล่วงหน้า 20ปี ในสภาวะที่โลกมีความผันผวนเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือ การไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี จะมีความผิด กำหนดให้ลงโทษรัฐบาลที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติได้ เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ และเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง ข้อเสนอเหล่านี้ไม่สุดโต่ง เป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย ส่วนที่ระบุร่างแก้ไขฉบับประชาชน มีความขัดแย้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบบัตรเลือกตั้ง 2ใบนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำขึ้นก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาฯให้ความเห็นชอบจะแก้ไขเสร็จ เรายินดีแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนในชั้นกมธ. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบไป

“ขอให้ไว้วางใจประชาชน โหวตรับหลักการเพื่อสร้างระบบการเมืองที่ไว้วางใจประชาชน แม้ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เสนอ ขอให้เลือกไว้วางใจประชาชนครั้งเดียว ในการออกเสียงประชามติหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านรัฐสภาในวาระสาม หากคิดว่าเลวร้ายหรือแย่ขอให้ไว้วางใจประชาชน ให้คว่ำด้วยเสียงของประชาชน ในการอภิปรายผมขอให้หยุดนำข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผ่านการออกเสียงประชามติ 16 ล้านเสียงว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ หากอยากวัดจริงๆ ขอให้รับหลักการ เพื่อดูผลการลงประชามติที่เกิดขึ้น หากเลือกตัดหน้าประชาชน ไม่รับหลักการ การอภิปรายจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ใช่แค่การคัดค้านกลุ่มรีโซลูชั่น แต่คือการไม่ไว้วางใจประชาชนฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้” นายพริษฐ์ กล่าว

จากนั้นนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ได้ชี้แจงต่อว่า 3.การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ  4.การล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างหลุมดำและรอยด่างพร้อยให้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาทำรัฐประหารกันจนเป็นประเพณี คิดว่าถ้ายึดอำนาจสำเร็จจะไม่มีวันถูกลงโทษ ดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของการทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ ไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องถูกดำเนินคดี ป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก หากสมาชิกให้ความเห็นชอบวาระ 1 ความเห็นที่แตกต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระ 2 และถ้าผ่านวาระ 3ไปได้ ก็ยังมีหนทางร้องศาลรัฐธรรมนูญและการทำประชาชน ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวนั้น แต่อย่างน้อยให้ลงมติรับวาระหลักการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดประตูรับรับฟังร่างภาคประชาชน เพื่อให้ได้ศาลรัฐธรรมนูญที่รับรองรัฐประหาร หรือก่อวิกฤติการเมือง มีองค์กรอิสระที่เป็นกลาง รวมถึงคนทำรัฐประหารต้องถูกดำเนินคดี