"ปิยบุตร-ไอติม"เตรียมขนำเสนอร่างแก้ไข รธน. ต่อรัฐสภา หวังทุกฝ่ายให้ผ่านวาระแรก
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่รัฐสภา กลุ่ม Re-Solution ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนที่มีการเข้าชื่อกว่า 150,291 รายชื่อ ผ่านการตรวจรายชื่อ 135,247 รายชื่อ นำโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกกลุ่มรัฐธณรมนูญก้าวหน้า นายณัชปกร นามเมือง จากกลุ่ม iLaw น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และนายเอกรินทร์ ต่วนศิริ ได้เดินทางมาเป็นผู้ชี้แจงนำเสนอ และตอบข้อซักถามของรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
นายปิยบุตร ระบุว่า วันนี้ตนกลับมาที่สภาอีกครั้ง ในฐานะผู้แทนของประชาชน 135,247 คนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและร่วมการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรื้อระบอบประยุทธ์ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การยกเลิกวุฒิสภา ให้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว 2) ปฏิรูปที่มา อำนาจหน้าที่ และการตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3) ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติแผนและแผนการปฏิรูปประเทศ และ 4) ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และป้องกันการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตนคาดหวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบ เพราะร่างฯนี้เนื้อหาทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งสิ้น และก็จะได้ปลดโซ่ตรวนจากการรัฐประหารปี 2557 ป้องกันการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ตนเข้าใจดีว่าอาจจะเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ตนก็เชื่อว่าคงจะมีวุฒิสภาที่ตระหนักถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก และวุฒิสภาเองก็มีความไม่ชอบธรรมมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว นี่คือโอกาสสำคัญที่ ส.ว.จะช่วยกันลงมติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และตนอยากฝากพี่น้องประชาชนให้ติดตามและฟังเหตุผลของพวกเรามาในฐานะผู้ชี้แจง รับฟังเหตุผลของเพื่อนสมาชิกทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แล้วลองชั่งน้ำหนักดูว่าเหตุผลของใครดีกว่ากัน แม้เราจะพอทราบว่าแต่ละฝ่ายจะมีการลงมติไปในทิศทางใด แต่ตนยืนยันว่านี่เป็นเพียงชั้นรับหลักการในวาระที่หนึ่งเท่านั้น หาก ส.ส.และ ส.ว. ยังติดขัดในรายละเอียดประการใด ก็ยังมีโอกาสในวาระที่สองที่จะการแปรญัตติรายมาตรา และยังมีโอกาสให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอีกครั้งหนึ่งในวาระที่สาม และถ้าผ่านไปได้ก็ยังต้องไปผ่านการออกเสียงประชามติอยู่ดี ตนจึงขอให้ทุกฝ่ายยอมรับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกัน ให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชน
“ผมไม่เห็นเหตุผลอะไรอื่นเลยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะไม่รับหลักการครั้งนี้ ควรจะรับไปก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ ได้ต่อไป เพราะอย่างน้อยที่สุดการลงมติรับหลักการก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภา ให้ความสำคัญกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่พี่น้องประชาชนเป็นคนเข้าชื่อกันมา” นายปิยบุตร กล่าว
ด้านนายพริษฐ์ ระบุว่าภาพรวมของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เราเห็นความตื่นตัวของประชาชนมากขึ้น หลายคนเห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ผ่านสถาบันทางการเมืองที่มีการเพิ่มอำนาจเข้ามาและสามารถควบคุมไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ร่างแก้ไขธรรมนูญรายมาตราฉบับนี้ตนขอเปรียบเหมือนวัคซีนแก้โควิด เป็นเพียงแค่เข็มแรกที่ไม่ได้มุ่งเป้าแก้ปัญหาทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่ต้องเป็นการแก้มาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดก่อน นั่นคือกลไกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกวุฒิสภา การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การลบล้างผลพวงรัฐประหาร และถึงแม้ฉบับนี้จะผ่านไปได้ เราก็ต้องตามมาด้วยเข็มที่สอง นั่นคือการร่างทั้งฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่าวันนี้เราจะได้เห็นความพยายามของสมาชิกหลายคน ที่พยายามจะวาดภาพให้ร่างแก้ไขฉบับนี้เป็นร่างที่น่ากลัวสุดโต่ง แต่ตนขอยืนยันว่าร่างนี้ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน เป็นเพียงการสร้างระบบการเมืองที่เป็นกลาง ที่ไว้ใจประชาชน ที่ทำให้กติกาเป็นธรรม ที่ประชาชนทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในการกำหนดอนาคตของประเทศ และที่ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็สามารถแข่งขันกันได้บนกติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจไว้กับฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง