"หมอมนูญ" ชี้ถึงเวลาแล้วควรพิจารณาแนวทางใหม่ในประเทศไทย ควรใช้ชุดตรวจ ATK เฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ สงสัยติดเชื้อ มีความเสี่ยงที่รับเชื้อ ประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่นำไปตรวจเชิงรุก คัดกรองคนที่ไม่มีอาการ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอย่างที่กำลังทำขณะนี้
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ รพ.วิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า แต่ก่อนเราเคยเชื่อว่าการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว Antigen Test Kit หรือ ATK บ่อยๆ มีประโยชน์ในการตรวจคัดกรอง สามารถแยกผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ เราทราบดีว่าวิธีตรวจ ATK มีความความจำเพาะต่ำประมาณร้อยละ 70 เท่านั้น หากตรวจได้ผลบวก จำเป็นต้องยืนยันด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR แต่ปัจจุบันหลังเริ่มใช้งานจริง เราพบว่าการตรวจ ATK อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้คัดกรองหาผู้ติดเชื้อในคนที่ไม่มีอาการ เพราะสร้างปัญหาใหม่ตามมามากมาย เสียทั้งเงิน ต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR เสียเวลา สร้างความเครียด ความหวาดกลัว ตื่นตระหนกตกใจโดยไม่จำเป็น อาจเพิ่มจำนวนคนติดเชื้อ เพราะเอาคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ ไปกักตัวอยู่ร่วมกับคนติดเชื้อโควิดในโรงพยาบาลสนามเป็นต้น
อย่างกรณีโรงเรียนที่ จ.มุกดาหาร ตรวจ ATK ได้ผลบวกปลอมในเด็กและครูประมาณ 100 คน ทำให้ทุกคนถูกกักตัว บางคนถูกแยกตัวไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม โรงเรียนทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ปิดการเรียนการสอนชั่วคราวรวม 10 วัน ต่อมามีการส่งเก็บสิ่งส่งตรวจไปตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR ซ้ำ ซึ่งผลออกมาเป็นลบ ไม่พบว่าคนไหนติดเชื้อ แสดงว่า ATK ให้ผลบวกปลอมเยอะมาก (ดูรูป)
ปกติแล้วผู้ที่ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจเป็นบวก และผู้ที่ไม่ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจเป็นลบ หากตรวจแล้วพบผลบวก ควรเป็นบวกจริง ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าติดเชื้อสูง ไม่ใช่บวกปลอมเป็นจำนวนมากอย่างในโรงเรียน จ.มุกดาหาร ถึงเวลาแล้วเราควรพิจารณาแนวทางใหม่ในประเทศไทย ควรใช้ชุดตรวจ ATK เฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงที่รับเชื้อ เช่นมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่นำไปตรวจเชิงรุก คัดกรองคนที่ไม่มีอาการ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอย่างที่กำลังทำขณะนี้ ประโยชน์ที่ได้ ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ขอบคุณเพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC