"แอมเนสตี้-รุ้ง" เรียกร้องนายกฯยุติละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้เห็นต่าง

2021-11-01 21:41:49

"แอมเนสตี้-รุ้ง" เรียกร้องนายกฯยุติละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้เห็นต่าง

Advertisement

"แอมเนสตี้-รุ้ง" ยื่นเกือบ 3 หมื่นรายชื่อถึงนายกฯ เรียกร้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่าง

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ​นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยพร้อมกับ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  หรือ รุ้ง นำ 28,426 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org มอบให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านตัวแทนและรับฟังคำมั่นสัญญาต่อประชาชนในการปฏิบัติเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทางการไทย

น.ส.​ปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ทางสำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เป็นการรณรงค์เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนคนทั่วโลกร่วมกันส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ทั้งที่มีการควบคุมตัวและลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมโดยพลการ ซึ่งพวกเขาเพียงแค่ชุมนุมโดยสงบและแสดงความเห็นทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกินกว่าเหตุและโดยไม่จำเป็นเพื่อสลายการชุมนุมด้วย แกนนำผู้ชุมนุม อย่างทนายอานนท์ นำภา ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ไม่ควรต้องมาถูกควบคุมตัวตั้งแต่แรกและยังถูกปฏิเสธไม่ให้พวกเขาได้ใช้สิทธิในการประกันตัวหรือเพิกถอนการประกัน ​จากการพูดคุยกับทางทนายความทราบว่า พวกเขาถูกควบคุมตัวในสภาพที่เลวร้าย ซึ่งทางเรากังวลอย่างยิ่งต่อปัญหาสุขภาพและสวัสดิภาพของพวกเขา เนื่องจากทั้งจตุภัทร์ และพริษฐ์ ได้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่อยู่ระหว่างการควบคุมตัว นอกจากนั้นเรายังมีความกังวลต่อกรณีการฟ้องคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบคนอื่นๆ รวมทั้งกรณีของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งได้ถูกแจ้งข้อหาในคดีอาญาเพิ่มเติมจากการชุมนุมโดยสงบเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา

ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทยยังระบุอีกว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีบุคคลอย่างน้อย 1,634 คน รวมถึงเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 257 คน ใน 166 คดี ถูกดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งหลายคนเสี่ยงที่จะได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน อาจถึงขั้นถูกจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตอบโต้การชุมนุมโดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชน ซึ่งมักละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำราวจได้ตอบโต้โดยการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุม ทั้งยิงแก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี ทุบตีและใช้กระสุนยางด้วย

​สำหรับในประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อภายใต้ปฏิบัติการด่วนที่มีการณรงค์ไปทั่วโลก ต่อกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยได้มีการทำแคมเปญรณรงค์ออนไลน์บนเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย และเว็บไซต์ของ Change.org จนสามารถรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนได้เกือบสามหมื่นรายชื่อ

​“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติวงจรของการปราบปรามผู้เห็นต่าง และปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งเคารพและปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และประกันว่าการปฏิบัติต่อการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการชุมนุมที่ไม่สงบ จะต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน เจ้าหน้าที่ต้องงดเว้นจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบ ไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากบุคคลที่สามด้วย” น.ส.ปิยนุชกล่าว

​ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

1. ยุติการดำเนินคดีอาญาทั้งปวงโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในขณะนี้

2. อนุญาตให้บุคคลสามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมโดยสงบได้ และไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจนเกินขอบเขตที่อาจเป็นการจำกัดการใช้สิทธิของพวกเขาโดยพลการ

3. ให้ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และโปร่งใสต่อการรายงานที่ว่ามีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการควบคุมตัวบุคคลและควบคุมการชุมนุมในทุกกรณี ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติของตำรวจที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย