"หมอธีระ" ประเมินโควิดไตรมาสสุดท้ายถึงต้นปีหน้าแนวโน้มยากลำบาก

2021-09-25 10:32:11

"หมอธีระ" ประเมินโควิดไตรมาสสุดท้ายถึงต้นปีหน้าแนวโน้มยากลำบาก

Advertisement

"หมอธีระ" ประเมินโควิดไตรมาสสุดท้ายไปถึงต้นปีหน้ามีแนวโน้มที่จะเป็นช่วงที่ยากลำบาก เหตุปัจจัยพื้นฐานไทยยังไม่เข้มแข็ง จำนวนติดเชื้อแต่ละวันอยู่ในระดับสูง กระจายไปทั่ว ระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานทำได้จำกัด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมีจำกัด 

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์  อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โพสต์ข้อความผ่านเพจ Thira Woratanarat  ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 25 ก.ย. 2564

ตุรกีแซงฝรั่งเศสขึ้นมาเป็นอันดับที่ 6 ของโลกได้แล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 477,271 คน รวมแล้วตอนนี้ 231,843,098 คน ตายเพิ่มอีก 8,009 คน ยอดตายรวม 4,750,105 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย ตุรกี และรัสเซีย

อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 115,417 คน รวม 43,652,481 คน ตายเพิ่ม 1,717 คน ยอดเสียชีวิตรวม 705,006 คน อัตราตาย 1.6%

อินเดีย ติดเพิ่ม 29,580 คน รวม 33,623,072 คน ตายเพิ่ม 291 คน ยอดเสียชีวิตรวม 446,690 คน อัตราตาย 1.3%

บราซิล ติดเพิ่ม 19,438 คน รวม 21,327,616 คน ตายเพิ่ม 645 คน ยอดเสียชีวิตรวม 593,663 คน อัตราตาย 2.8%

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 35,623 คน ยอดรวม 7,601,487 คน ตายเพิ่ม 180 คน ยอดเสียชีวิตรวม 135,983 คน อัตราตาย 1.8%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,379 คน รวม 7,376,374 คน ตายเพิ่ม 828 คน ยอดเสียชีวิตรวม 202,273 คน อัตราตาย 2.7%

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี ฝรั่งเศส อิหร่าน อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น

หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 92.06 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน  แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ติดเพิ่มกันหลักหมื่น  เวียดนาม ญี่ปุ่น เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีนติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ ณ ปัจจุบัน สถานการณ์ของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกดูดีขึ้น

ฝั่งทวีปยุโรป หากไม่นับสหราชอาณาจักร รัสเซีย และยูเครนแล้ว ประเทศต่างๆ ล้วนคุมการระบาดได้ในระดับหลักร้อยถึงพันต้นๆ  ฝั่งทวีปอเมริกาเหนือนั้น ไปหนักที่อเมริกา และเม็กซิโก  แต่ทวีปเอเชีย หนักเกินหมื่นถึง 7 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

สถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานจำนวนติดเชื้อเพิ่ม สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่หากรวม ATK ด้วย จะเขยิบขึ้นเป็นอันดับ 8 ของโลกระลอกสามเริ่มตั้งแต่เม.ย.จนถึงบัดนี้ รวมแล้วเกือบ 6 เดือน และยังไม่สามารถลงสู่ baseline ได้  หากเปรียบกับสมัยระลอกก่อนๆ มีหลายประเทศที่มีการระบาดยาวนานมาก เช่น อินเดียระลอกแรกตั้งแต่ พ.ค. 2020 ถึง ม.ค. 2021 และเริ่มระลอกสองราวมี.ค. หลังจากมีระยะเวลาคงที่ได้ราว 4 สัปดาห์  ประเมินแล้วไตรมาสสุดท้ายไปถึงต้นปีหน้า มีแนวโน้มที่จะเป็นช่วงที่ยากลำบาก เพราะปัจจัยพื้นฐานของเรายังไม่เข้มแข็ง ดังที่บอกไปคือ จำนวนติดเชื้อแต่ละวันอยู่ในระดับสูง กระจายไปทั่ว ระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานทำได้จำกัด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมีจำกัด และนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องช่วยกันดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ วางแผนจัดการความเสี่ยงไว้ด้วย การที่ประชาชนแต่ละคนจะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสามประการหลักคือ หนึ่ง ความใส่ใจสุขภาพเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิตประจำวัน (Health conscious) สอง การตัดสินใจรับวัคซีนทั้งชนิดและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมโดยใช้ความรู้ที่ถูกต้อง (Evidence-based decision making) และสาม ศักยภาพของคนที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนกระแสหลักของสากลที่เป็นวัคซีนทางเลือกของประเทศ (Accessibility and affordability to highly effective vaccines)

ขอบคุณเพจ Thira Woratanarat