"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" นำเข้ายารักษาโควิดโดสละ 5 หมื่น

2021-09-21 18:03:01

"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" นำเข้ายารักษาโควิดโดสละ 5 หมื่น

Advertisement

"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" นำเข้ายาแอนติบอดี้คอกเทลรักษาผู้ป่วยโควิด ส่งให้ 50 รพ.รัฐ-เอกชน โดสละ 5 หมื่นบาท จ่ายยา 1 คน 1 โดส

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ด้วยยาโมโนโครนอล แอนติบอดี้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ในวงการแพทย์ตอนนี้วัคซีนก็พัฒนาไม่ได้หยุด ยาก็เช่นเดียวกันมีการวิจัยยาเฉพาะหลายตัว เช่น ยาโมโนโครนอล หรือแอนติบอดี้คอกเทลเป็นยาสังเคราะห์เข้าไปจับเซลล์ไวรัสไม่ให้เข้าในร่างกาย หากใช้ในระยะต้นที่เริ่มมีอาการจะทำให้หายเร็วขึ้น อาการไม่รุนแรง และจากข้อมูลจะลดการเสียชีวิตได้ด้วย แม้มีการติดเชื้อยู่ก็จะไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากเกินไปนัก ล่าสุดราชวิทยาลัยมีการจัดหายาแอนติบอดี้คอกเทล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว เพื่อให้ยากับผู้ป่วยระยะแรก ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง มีความเสี่ยงมีอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งมีข้อมูลว่าเมื่อได้รับยาแล้วจะลดการเข้ารพ. และลดการเข้า ไอซียู

ด้าน  ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ป่วยโควิด จะพบว่ามี 5 % ที่มีอาการหนักต้องเข้าไอซียู จึงต้องหาวิธีลดคนไข้รายใหม่ลงให้มากเพื่อลดจำนวนคนเข้าไอซียู ตอนนี้เราจะเห็นคนไข้น้อยลงไปสักระยะ แต่หลังเปิดกิจการกันแล้วจะเริ่มเห็นจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก คาดประมาณการณ์กลางเดือน ต.ค. แต่หวังว่ากราฟจะไม่ชันเหมือนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการสาธารณสุขในการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเรารณรงค์มาตลอด บางคนวิจารณ์ว่าทำไมไปโทษรัฐบาล แต่ส่วนตัวเห็นว่าเชื้อโรคนี้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐ แต่เชื้อโรคนี้แพร่จากคนสู่คน การจะป้องกันได้ ไม่ว่านโยบายเป็นอย่างไรก็ตาม หากประชาชนไม่ร่วมมือตรงนี้เชื้อก็ยังแพร่อยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกันทั้งประชาชนและรัฐบาล แต่ถึงป้องกันดีอย่างไรก็ตาม ยังมีรูรั่ว เพราะคนเกิดคว่ามล้า อาจทำผิดขั้นตอน หรือจะมีการติดเชื้อไม่รู้ตัว

ประการต่อมาคือพยายามเพิ่มการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด แต่อย่างที่รู้กันว่าวัคซีนไม่ได้กันติด ฉีดแล้วยังติดได้ แต่โอกาสมีอาการหนักก็น้อยกว่าคนไม่ได้ฉีดมาก อย่างไรก็ มาตรากรสาธารณสุข มาตรการวัคซีน อาจจะตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งอันต่อมาคือยารักษา ขณะนี้ยาต้านไวรัสทุกตัว รวมถึงฟ้าทะลายโจรก็ยังมีคำถาม ดังนั้นขณะนี้จึงมีความพยายามหายาต้านไวรัสหลายตัว บางตัวทำท่าว่าจะได้ผล เช่น โมโนโครนอลฯ น่าสนใจ เพราะบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ ตนมองว่าจะเป็นหนึ่งตัวที่มาช่วยคนไข้ความเสี่ยงสูงได้ดีพอสมควร โดยใชในกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าไอซียู คือผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ทรัพยากรมากสุด และมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด หากใช้อย่างเหมาะสมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริง เชื่อว่าน่าจะสามาถารถช่วยไม่โหลดระบบ อย่างไรก็ตามทั่วโลกมีความต้องการใช้ และราคาแพงมากจึงถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยานี้ ต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะได้รับยานี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นมีการนำเข้ามา 4,000 โดส กระจายให้กับ รพ.ภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ย้ำว่ายานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคน ในส่วนของรพ.เอกชน อาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วนรพ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของ รพ. หรือเงินบริจาคต่างๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เบื้องต้นที่มีการนำเข้ามานั้นราคา 50,000 บาท ต่อโดส 1 คน ใช้ 1 โดส