โควิด-19 กลายพันธุ์ "สายพันธุ์มิว"

2021-09-17 12:22:32

โควิด-19 กลายพันธุ์  "สายพันธุ์มิว"

Advertisement

โควิด-19 กลายพันธุ์  "สายพันธุ์มิว" 

ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มลดจำนวนลงในแต่ละวัน แต่ยังมีหลายรายที่ยังอยู่ในระหว่างการรักษาทั้งในสถานพยาบาล และที่บ้าน ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตที่ไม่ลดลงมาก และมีการแพร่กระจายเชื้อในบ้าน สถานที่ที่มีการรวมตัวกันมาก ถึงแม้บางรายจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วก็ตาม ทำให้มีความกังวลเกิดขึ้นว่า ยังมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีกหรือไม่ นอกจากสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เร็ว และเป็นรุนแรงมากขึ้นแล้ว

องค์การอนามัยโลกมีการประกาศเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า “สายพันธุ์มิว” สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในความสนใจ เรามาทำความรู้จักกัน

สายพันธุ์มิว มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลัมเบีย ในเดือน ม.ค. พ.ศ. 2564 นี้ โดยได้ชื่อตั้งต้นว่า B1621 และมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ที่สำคัญคือตำแหน่ง P681H ซึ่งพบครั้งแรกในการกลายพันธุ์ของสายพันธ์แอลฟ่าซึ่งอาจทำให้กลายพันธุ์เร็วขึ้น และมีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K และ K417N ซึ่งอาจทำให้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ซึ่งพบในการสายพันธุ์เบต้าที่ทำให้วัคซีนนั้นไม่ได้ผล ยังพบว่ามีอีกสองตำแหน่งคือ R346K และ Y144T ที่กำลังมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้น

มีการค้นพบสายพันธุ์มิวมากกว่า 40 ประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของการติดเชื้อทั่วโลก แต่ในโคลัมเบีย และชิลิ ประเทศเพื่อนบ้านเองได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่พบถึงประมาณร้อยละ 40 ในขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทยแต่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

องค์การอนามัยโลกแบ่งสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ในขณะที่เขียนวันที่ 6 ก.ย. 2564 นี้

1. variant of concern (VOC) สายพันธุ์ที่ต้องกังวล ได้แก่ แอลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า

2. variant of interest (VOI) สายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ ได้แก่ มิว อีต้า ไอโอต้า เคปป้า และแลปด้า

โดยสรุปแล้ว สายพันธุ์มิว แม้ยังเป็นกลุ่ม VOI แต่มีความแตกต่างทางด้านพันธุกรรม และทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีการอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขในวงกว้างหรือไม่ โดยการกลายพันธุ์นี้อาจทำให้ติดง่ายมากขึ้น และโรคเป็นรุนแรงมากขึ้น และที่สำคัญคือการรักษาในปัจจุบันอาจไม่ดีเพียงพอที่จะกำจัดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้ นอกจากนั้นอาจทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายจากคนที่เคยได้รับวัคซีนหรือคนที่เคยติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นแล้ว ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบหรือเคยติดเชื้อแล้ว ทุกคนควรจะปฏิบัติตัวแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด โดยการทำความสะอาดมือและพื้นผิวบ่อย ๆ ใส่หน้ากากที่เหมาะสมป้องกัน งดไปในที่แออัดหรือที่ระบายอากาศไม่ดี เว้นระยะห่างทางสังคม งดการดื่มน้ำหรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ เลี่ยงการกินยาหรือสมุนไพรที่ไม่ทราบฤทธิ์หรือไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าช่วยป้องกันหรือรักษาโควิด-19 แต่อาจมีผลเสีย หากมีโรคประจำตัวให้ทานยาเดิมสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัดโดยอาจเลือกเป็นระบบทางไกล

หากมีอาการไม่สบายตัว หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ให้แยกตัวจากผู้อื่นหาชุดตรวจแอนติเจนที่ได้ผลเร็ว (Antigen test kit; ATK) หรือไปที่จุดตรวจโรคทางเดินหายใจในสถานพยาบาลหรือจุดให้บริการในชุมชนที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมชนิดพีซีอาร์ทันที

อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล