"ปิยบุตร"บินเงียบไปฝรั่งเศสในรอบ 18 เดือน

2021-07-14 10:33:27

"ปิยบุตร"บินเงียบไปฝรั่งเศสในรอบ 18 เดือน

Advertisement

"ปิยบุตร"บินเงียบไปฝรั่งเศสในรอบ 18 เดือน  ลั่นไม่ต้องปฏิบัติการไอโอให้เสียเวลา ไม่ต้องไปปล่อยข่าวมั่ว เดือน ก.ย. กลับประเทศไทยแน่นอน 

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์ข้อความระบุว่า การกลับมาปารีสในรอบ 18 เดือน ผมเดินทางกลับมาปารีสในรอบ 18 เดือน ครั้งสุดท้ายที่ได้มา คือ ช่วงสิ้นปี 2019 เข้าปี 2020 ก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบ สถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 และภารกิจการเมือง ทำให้ผมไม่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศได้บ่อยครั้งเมื่อเทียบกับแต่ก่อน แม้ภรรยาของผมได้รับทุน Post-Doc ที่สิงคโปร์ ไม่ไกลจากไทยมาก แต่เราก็ไม่สามารถเจอกันได้บ่อยดังที่วางแผนไว้ เพราะ อุปสรรคการเดินทางในช่วง Covid-19 จนกระทั่งภรรยาผมผ่านการสอบคัดเลือก ได้เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Paris I เธอจึงเดินทางกลับปารีส ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การเข้าประเทศฝรั่งเศส โดยแบ่งเป็นโซน ทำให้ผมสามารถเดินทางมาปารีสได้ง่ายขึ้น ผมจึงวางแผนการเดินทางมาปารีส ใช้โอกาสนี้ในการเจอภรรยา หลังจากไม่มีโอกาสเจอกัน หลังจากเธอต้องเดินทางไปหลายเมือง หลายประเทศ นับแต่จบปริญญาเอก ตั้งแต่ เกิททิงเง่น ฮาวาร์ด สิงคโปร์

เงื่อนไขการเดินทาง

การเดินทางเข้าสู่ดินแดนประเทศฝรั่งเศสสำหรับคนต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศต่างๆ แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ สีเขียว สีส้ม สีแดง ประเทศไทยอยู่ในโซนสีส้ม หากใครฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอนา จอห์นสัน แอสตร้า ครบโดส สามารถเข้าประเทศฝรั่งเศสได้ โดยต้องแสดงผลการตรวจโควิดเป็นลบ แบบ PCR อย่างน้อย 72 ชม ก่อนขึ้นเครื่อง แบบ Test antigénique อย่างน้อย 48 ชม ก่อนขึ้นเครื่อง หากใครยังไม่ฉีดวัคซีน หรือยังฉีดไม่ครบโดส สามารถเข้าประเทศฝรั่งเศสได้ ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

1. แสดงผลการตรวจโควิดเป็นลบ แบบ PCR อย่างน้อย 72 ชม ก่อนขึ้นเครื่อง แบบ Test antigénique อย่างน้อย 48 ชม ก่อนขึ้นเครื่อง

2. ต้องมีเหตุผลสำคัญในการเดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ เช่น มีคู่สมรส คู่ชีวิต เป็นคนฝรั่งเศส ทำงาน การศึกษส เป็นต้น

3. เมื่อมาถึง หากมีการตรวจโควิด ต้องยินยอมให้ตรวจ

4. ต้องยอมแยกตัวจากผู้อื่นเป็นเวลา 7 วันนับแต่มาถึง

ขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศในรอบ 18 เดือน

ผมเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิเย็นวันที่ 4 ก.ค. แทบไม่มีคนเลย บรรยากาศสนามบินเงียบสงัด ร้านค้าในสนามบินจำนวนมากถูกปิด นี่คือบรรยากาศสนามบินที่เราแทบไม่เคยพบเห็น สายการบินที่มีเส้นทางตรง กรุงเทพฯ-ปารีส เริ่มกลับมาแล้ว เริ่มจาก Air France ที่สัปดาห์หนึ่งจะมีหนึ่งรอบ โดยเป็นเครื่องที่ออกจากโฮจิมินห์ และมารับผู้โดยสารที่กรุงเทพฯ ทราบมาว่า จะเพิ่มเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯอีกในเร็วๆนี้ ส่วนการบินไทย ล่าสุด ผมเห็นประกาศว่าจะกลับมามีเที่ยวบินตรงเช่นกัน รอบเที่ยวบินที่ผมเดินทางนั้น ผู้โดยสารเต็มลำ เพราะ มาจากโฮจิมินห์ ส่วนผู้โดยสารที่ขึ้นจากกรุงเทพฯ เท่าที่ผมเห็นด้วยสายตา ไม่น่าจะมีคนไทย รวมแล้ว ผู้โดยสารเกือบทั้งหมดเป็นคนฝรั่งเศสที่เดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวในช่วงหยุดฤดูร้อน

ปารีสกำลังกลับมา

ผมเดินทางมาถึง CDG ตีสามครึ่งของวันที่ 5 ที่นี่ ก็เงียบเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีเที่ยวบินลงสม่ำเสมอ ผู้คนก็มีพอสมควร เพราะ ช่วงนี้ มีคนใช้บริการเดินทางกลับฝรั่งเศส มาหาครอบครัวกันมาก ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ในส่วนของคนต่างชาติ แบ่งเป็นสองแถว แถวฉีดวัคซีนแล้วกับแถวที่ยังไม่ได้ฉีด เจ้าหน้าที่ดูพาสปอร์ต วีซ่า ดูผลการตรวจโควิด ดูเอกสารสมรสและครอบครัว ของผมเรียบร้อย ก็ผ่านมาได้ ที่นี่ ยกเลิกการบังคับใส่หน้ากากในที่สาธารณะแล้ว แต่ยังคงบังคับให้ใส่ในบางสถานที่ เช่น สนามบิน ขนส่งมวลชน ร้านอาหาร บาร์ ร้านค้า ปารีสฤดูร้อน อากาศดี แสงอาทิตย์ยาวนาน พระอาทิตย์ตกสามถึงสี่ทุ่ม แต่บรรยากาศปารีสปีนี้ ไม่คึกคักเหมือนฤดูร้อนในปีก่อนๆ ส่วนหนึ่ง นักท่องเที่ยวหายไปมาก เพราะเดินทางยากลำบาก อีกส่วนหนึ่ง คนที่อยู่ปารีสเริ่มออกเดินทางไปเที่ยวที่อื่นในช่วงหยุดฤดูร้อน ถึงกระนั้น เสน่ห์ของปารีสที่ผมชอบยังคงอยู่ นั่นคือ การดื่มกินพูดคุยกันที่โต๊ะเก้าอี้บริเวณ Terrasse ของร้านอาหารและบาร์ ตกเย็นไปจนถึงมืดค่ำ คนก็ออกจากบ้านมาพักผ่อนสังสรรค์กัน หลังจากอัดอั้นกับมาตาการล็อกดาวน์มาหลายเดือน

เดือน ก.ค. ส.ค. เป็นช่วงเวลาที่มีค่าและเฝ้ารอคอยของคนฝรั่งเศสมาก หากสองเดือนนี้ต้องถูกมาตรการเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ คงตายแน่ๆ เขาจึงพยายามควบคุมอัตราการแพร่ระบาดให้ได้ เร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อที่จะผ่อนปรนมาตรการในช่วงหน้าร้อน และเป็นไปได้ว่า เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ก็จะกลับมาเข้มงวดอีก เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แถลงข่าวว่า อัตราผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมา และผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มขึ้นในเร็วๆนี้ ได้แก่ บังคับให้บุคลากรทางสาธารณสุขฉีดวัคซีน สำหรับคนทั่วไป ยังไม่บังคับตอนนี้ แต่ขอให้ร่วมมือไปฉีดกันให้ครบทุกคน พร้อมยืนยันว่า วัคซีนสามยี่ห้อที่ฉีดกันที่ฝรั่งเศสนั้นป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้เตรียมบังคับให้แสดง Pass sanitaire (เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบโดสหรือแสดงผลตรวจเป็นลบ) ก่อนเข้าร้านอาหาร บาร์ รถไฟ รถบัส คอนเสิร์ต กีฬา กิจกรรมที่มีคนเกิน 50 คน เตรียมยกเลิกการตรวจ PCR โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อบีบให้คนไปฉีดวัคซีนแทน แทนที่จะใช้การตรวจ PCR ซ้ำๆว่าตนไม่เป็น เป็นต้น

การฉีดวัคซีนเข็มแรก

ขั้นตอนการเข้าฉีดวัคซีนที่นี่ทำได้ง่ายมาก เริ่มต้นจากลงทะเบียนนัดหมายที่เว็บไซต์ Doctolib โดยเข้าไปเลือกวัน เวลา และศูนย์ฉีดวัคซีนได้ ทั้งเข็มแรกและเข็มที่สอง นอกจากนั้น เรายังสามารถเลือกได้ด้วยว่าต้องการฉีดวัคซีนตัวไหน ผมเลือกฉีดไฟเซอร์ เข็มแรก วันที่ 12 ก.ค. และเข็มที่สองวันที่ 3 ส.ค. (ต้องห่างกันอย่างน้อย 21 วัน) ส่วนภรรยาผมก็ฉีดไฟเซอร์ เข็มที่สอง เพราะ เธอฉีดเข็มแรกมาแล้วจากสิงคโปร์ เมื่อลงทะเบียนนัดหมายแล้ว ระบบก็จะส่งเมล์ยืนยัน และแจ้งเตือนมาทางเมล์และโทรศัพท์ว่า ต้องไปฉีดวันใด เวลาใด ที่ไหน ในกรณีที่ต้องการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงนัดหมาย ก็ทำได้ทันทีเช่นกัน ผมต้องไปฉีดวัคซีนที่ Salle Olympe de Gouges (ตั้งชื่อตามวีรสตรีนักปฏิวัติในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้รณรงค์สิทธิสตรีและบทบาททางการเมืองของผู้หญิง) เขตที่ 11 ไม่ไกลจากสุสาน Père Lachaise เดินเท้าจากบ้าน 2.6 กิโลเมตร ประมาณ 20 นาที เอกสารที่ต้องนำไป คือ บัตรประจำตัว (กรณีของผมก็คือพาสปอร์ต) และ Carte Vitale หรือบัตรประกันสุขภาพประกันสังคม (ผมไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้อาศัยที่นี่ จึงไม่มี) เราไปถึงศูนย์ฉีดวัคซีน ทุกอย่างง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นระบบมาก เริ่มจากด่านที่หนึ่ง หน้าประตูเข้า เราก็แจ้งชื่อและเวลานัด จากนั้น ก็เข้าไปข้างในได้ไปถึง ก็มีจุดแรกตรวจเอกสาร เจ้าหน้าที่ดูๆ กรอกเข้าระบบ ของผมมีแค่พาสปอร์ตอันเดียว ก็ไม่มีปัญหา ผ่านฉลุย สมุดครอบครัวทะเบีบนสมรส ที่ผมเตรียมไป ก็ไม่ต้องใช้แต่อย่างใด หลังจากนั้น เราก็จะพบกับแพทย์ ถามข้อมูลต่างๆก่อนฉีดวัคซีน ให้ครบถ้วนว่า สภาพร่างกายเราสามารถรับวัคซีนได้ แล้วก็เข้าไปในโซนฉีดวัคซีน เขาแบ่งพาร์ทิชั่นฉีดวัคซีนไว้หลายๆจุด ผมคะเนด้วยสายตา ประมาณ 10 จุด แต่ละจุดก็แปะว่าจุดนี้ฉีดวัคซีนตัวไหน เจ้าหน้าที่เรียกชื่อ ผมก็เข้าไปฉีดจากนั้น ก็ไปจุดรับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ฉีดตัวไหน วันใด และมีเอกสารของทางสหภาพยุโรปรับรองว่าฉีดวัคซีนเสร็จแล้ว ก็นั่งรอดูอาการอีก 15 นาที เป็นอันเสร็จสิ้นกลับบ้านได้ผมใช้เวลาตั้งแต่ประตูเข้า มาฉีดวัคซีน มารอรับเอกสารรับรองรวมทั้งหมด 10 นาที บวกรอดูอาการอีก 15 นาที รวมแล้ว 25 นาที บวกเดินเท้าไป-กลับ อีก 40 นาที รวมทั้งหมดตั้งแต่ออกจากบ้านจนกลับบ้านรวม 65 นาที

ผมมาปารีสครั้งนี้ จะอยู่ที่ปารีส 2 เดือน ส่วนหนึ่งก็คือการใช้โอกาสนี้ในการอยู่กับภรรยาและครอบครัว นับตั้งแต่ผมเข้ามาแวดวงการเมือง ก็ไม่มีโอกาสเดินทางไปเจอภรรยาได้บ่อยครั้ง เมื่อมีโอกาสเจอกันแต่ละครั้ง ก็เวลาสั้นๆเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างผมอยู่ที่นี่ ก็จะเขียนงาน จัดรายการ เผยแพร่ความรู้ ทำงานความคิดต่อไป คนที่ไม่ชอบผม จ้องทำลายผมด้วยข้อมูลเท็จ ก็ไม่ต้องปฏิบัติการทางไอโอให้เสียเวลา ไม่ต้องไปปล่อยข่าวมั่ว นะครับ อย่างไรเสีย เดือน ก.ย. ผมกลับประเทศไทยแน่นอน เพราะ ผมชอบเพลง J’ai deux amours ของ Josephine Baker

ขอบคุณเพจ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล