ครม.เคาะเยียวยา 9 ประเภทกิจการ 10 จังหวัด

2021-07-13 17:28:24

ครม.เคาะเยียวยา 9 ประเภทกิจการ 10 จังหวัด

Advertisement

ครม.เคาะมาตรการเยียวยา แรงงาน ผู้ประกอบการเพิ่ม ครอบคลุมทุกสิทธิ ม.33  ม.39 ม.40 ขยายเป็น 9 ประเภทกิจการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด เป็นเวลา 1 เดือน

เมื่อวันที่  13 ก.ค. เพจ รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล  ของ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความระบุว่า คณะรัฐมนตรี ( ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐ เพิ่มเติมจากมติ ครม. เดิม เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 โดยให้ความช่วยเหลือระยะเวลา 1 เดือน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด (จากเดิม 6 จังหวัด) ประกอบด้วย

กทม.

นครปฐม

นนทบุรี

ปทุมธานี

สมุทรปราการ

สมุทรสาคร

นราธิวาส

ปัตตานี

ยะลา

สงขลา


ครอบคลุมประเภทกิจการรวม 9 สาขา (จากเดิม 4 กิจการ ) ได้แก่

(1) การก่อสร้าง

(2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

(3) ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ

(4) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 

(5) การขายส่งและการขายปลีก  การซ่อมยานยนต์

(ุ6)กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ

(7) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า

(8) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน

(9) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร


สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือมีดังนี้

1.แรงงานในระบบประกันสังคม

-ผู้ประกันตนมาตรา 33

-นายจ้างและผู้ประกอบการ รัฐบาลยังคงจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อหัวต่อสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน

-ลูกจ้าง จ่ายเพิ่มเป็น 2,500 บาทต่อคน จากที่ลูกจ้างจะได้รับตามมาตรการช่วยเหลือเดิมเพียง 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเมื่อรวมกับจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ทำให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน

-ผู้ประกันตน มาตรา 39 และ มาตรา 40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบมาตรา 33 ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (มาตรา 40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน

2.นอกระบบประกันสังคม

กลุ่มผู้ประกอบการ นายจ้าง กรณีมีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อที่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน ซึ่งลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายในเดือนก.ค.นี้ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน

สำหรับผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ขยายให้ความช่วยเหลือจากเดิมเฉพาะหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)

กรณีที่มีลูกจ้าง ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคนต่อสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คนและลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินในอัตรา 5,000 บาทต่อคน