108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (cognitive-behavior therapy)

2017-12-05 14:00:41

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (cognitive-behavior therapy)

Advertisement

ความคิดและพฤติกรรมบำบัด เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำจิตบำบัด โดยเน้นที่การปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญให้กับผู้ป่วย โดยประกอบด้วยหลักการพื้นฐานดังต่อไปนี้


1. เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาในชีวิต แล้วทำให้คนเรามีความรู้สึกบางอย่าง สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น ไม่ใช่ตัวเหตุการณ์ แต่เป็นการตีความหรือการแปลความเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเกิดในความคิดของคนคนนั้น
2. สิ่งที่คนเราทำ มีผลอย่างมากต่อความคิดและความรู้สึกของคนคนนั้น
3. การตีความหรือแปลความสิ่งต่างๆ ตลอดจนความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามมานั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคนทั่วๆ ไป แต่ที่ทำให้เกิดปัญหา คือมีการใช้แบบมากเกินไป หรือสุดโต่ง เช่น ตีความด้านเดียวมากเกินไป
4. มุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาในปัจจุบัน มากกว่าอดีต



5. ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม ปฏิกิริยาทางกาย ต่างเชื่อมโยงและส่งผลต่อกันและกัน


ระดับของความคิด ในความคิดและพฤติกรรมบำบัด แบ่งได้เป็น 3 ขั้นใหญ่ๆ ประกอบด้วย
1. ความคิดที่ขึ้นมาแบบอัตโนมัติ ขึ้นมาเอง ไม่ต้องพยายามคิด มีความจำเพาะกับสถานการณ์แต่ละอย่าง เช่น “ฉันทำผิดอีกแล้ว” “ทำไมเขาทำแบบนี้กับฉัน”
2. ข้อสรุป กฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิต เช่น “ถ้าเขารู้จักฉันมากกว่านี้ เขาต้องไม่ชอบฉันแน่” “ต้องเก่งถึงจะเป็นที่รัก”



3. ความเชื่อที่เป็นแก่นหลัก เป็นความเชื่อที่เป็นรากฐานเกี่ยวกับตัวเอง คนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงยาก ครอบคลุมไปกับทุกๆเรื่อง เช่น “ฉันไม่มีคุณค่า” “ฉันไม่เป็นที่รัก” “ฉันอ่อนแอ”


โรคทางจิตเวชนั้น จะมีลักษณะของความคิดที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ในรูปแบบที่ต่างๆ กัน เช่นในโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีมุมมองต่อตัวเอง โลกภายนอก และอนาคต ในด้านลบ เช่น มองตนเองว่าอ่อนแอ ไร้ความสามารถ ไม่มีใครสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ อนาคตเต็มไปด้วยความมืดมน ส่วนในโรควิตกกังวล ผู้ป่วยจะมีการประเมินสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าน่ากลัว อันตราย ไม่ปลอดภัย และประเมินความสามารถของตนเองในการจัดการกับสิ่งต่างๆ ต่ำกว่าความเป็นจริง มองว่าตนเองไม่สามารถรับมือกับเหตุต่างๆ ที่จะเข้ามาได้

ความคิดและพฤติกรรมบำบัดนั้น มีลักษณะเฉพาะตัวหลายประการ เช่น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บำบัดและผู้รับการบำบัด ไม่ใช่การมานั่งฟังการสอน หรือให้คำแนะนำเพียงอย่างเดียว แต่ผู้รับการบำบัดต้องลงทุนลงแรงในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตนเองด้วย รวมทั้งมีรูปแบบที่ชัดเจน มีระยะเวลาที่แน่นอนและจำกัด ตลอดจนมุ่งเน้นการรักษาไปที่การแก้ปัญหาในปัจจุบัน และด้วยกระบวนการบำบัดนั้น จะเป็นการตั้งคำถามให้ผู้รับการบำบัดค้นพบคำตอบได้ด้วยตนเอง มีการให้สรุปและแสดงความเห็นจากผู้รับการบำบัด

ในปัจจุบันความคิดและพฤติกรรมบำบัดสามารถใช้รักษาโรคทางจิตเวชได้หลายโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลุ่มวิตกกังวลต่างๆ โรคเกี่ยวกับความผิดปกติด้านการกิน ปัญหาบุคลิกภาพ


พญ.ธนิตา หิรัญเทพ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล