สภาฯผ่านฉลุย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน

2021-06-10 11:55:27

สภาฯผ่านฉลุย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน

Advertisement

มติสภาฯผ่านฉลุย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านสู้โควิด  270 ต่อ 196  “หมอชลน่าน” อัดนายกฯ ไร้ภาวะผู้นำทำประเทศเสียหายจี้ลาออก ฝ่าย รมว.คลังยันใช้เงินทุกบาทรอบคอบตรงเป้าหมาย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 มิ.ย. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท วันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.)อภิปรายปิดในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน ว่า การแก้ไขปัญหาโควิด- 19 ด้วยวัคซีน ตนมองว่ากลายเป็นภาระแห่งชาติ ไม่ใช่วาระแห่งชาติ เพราะจากความไม่พร้อมของการบริหารวัคซีน ทำให้โรงพยาบาลต้องเลื่อนนัดฉีดวัคซีน และทำให้หมอ และคนไข้มีความขัดแย้ง ทั้งนี้หากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหมอ จะเป็นหมอที่ทำให้อาการของคนไข้แย่ลง และเสียชีวิต กว่า 1,300 ราย ภายใน 2 เดือน และมีคนไข้สะสมหลักแสนคน พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีภาวะผู้นำ เพราะการชี้แจงต่อสภา พบการเสียดสี ถากถาง เยาะเย้ย ทำให้ไม่ไว้ใจ ว่าจะทำหน้าที่ได้ดีต่อไปหรือไม่ และกังวลว่าจะทำให้ประเทศลงเหว หากเป็นวงการแพทย์ต้องถูกถอนใบวิชาชีพทางการแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้ ความบิดเบี้ยวของการตัดสินใจ ทำให้ประเทศเสียหาย นายกรัฐมนตรี ไม่มีความมั่นใจต่อการระงับการระบาดของโควิด-19 ได้ จากที่ชี้แจงเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่แก้ไขง่าย ต้องใช้เงินกู้เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อระงับการระบาดของโควิดเท่านั้นภายใน1 ปี ส่วนงานฟื้นฟู ที่เสนอกว่า 4 หมื่นโครงการ เป็นแผนงานปกติ ไม่ใช่แก้ปัญหาและไม่ควรใช้เงินกู้ แต่ควรนำเข้าระบบงบประมาณปกติ ดังนั้นผมเชื่อว่ากู้เงินอีกรอบ 5 แสนล้านบาท จะไม่สามารถระงับยังยั้งการระบาดได้ เพราะความล้มเหลวจากการใช้เงินกู้ก้อนแรก

นพ.ชลน่าน กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนฟ้องร้องทางละเมิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้เป็นตัวอย่าง ว่า เป็น ผู้นำที่ทำให้ประชาชนเสียหาย และเสียชีวิต ซึ่งตนมองว่าเป็นการตัดวงจรชีวิตประชาชน ไร้จริยธรรม ทั้งนี้ตนมองว่ากรณีที่องค์กรได้คนโง่และขยันเป็นผู้นำ ทำให้องค์กรเสียหาย ตนยืนยันว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านไม่อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน5 แสนล้านบาท เพราะ 1.การให้กู้เงินไปก่อนหน้านั้นไม่สามารถระงับยับยั้งควบคุมการระบาด เยียวยาไม่ตรงประเด็น ฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้ สำหรับ 2.เหตุผลที่ฝ่ายค้านไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งที่ควรใช้เป็นกฎหมายงบประมาณ แทนการออก พ.ร.ก. แต่การบริหารกลับเป็นการบริหารปกติ 3. ผู้นำไม่มีความเหมาะสมเป็นผู้นำ ทั้งนี้ตนต้องการความเชื่อมั่นจากผู้นำ และ 4. การฟื้นประเทศ ยับยั้งวิกฤต โรคระบาด และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำ ส่วนที่บอกว่าจะยุบสภา และอีก 1 ปี ขณะนี้มีสัญญาณแก้รัฐธรรมนูญและไทม์ไลน์เป็นไปตามนั้น เพราะคิดว่าได้พวกของท่านจะได้ประโยชน์ หากท่านลาออก ประชาชนจะยกย่องเป็นวีรบุรุษ ดังนั้นขอให้ท่านออกเพื่อบ้านเมือง แต่หากดื้อต่อไป จะเป็นคนที่ประชาชนเกลียดชัง และขนานนามว่าเป็นทรราช เพราะท่านทำร้ายและเข่นฆ่าประชาชน ดังนั้นขอให้ออกเพื่อบ้านเพื่อเมือง

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในปี 63 ช่วงการระบาดของโควิด – 19 รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เพื่อให้การบริโภคภายในประเทศไม่หยุดชะงัก ซึ่งจุดประสงค์ในการใช้เงินก้อนนี้ เพื่อต้องการออกมาตรการต่างๆให้ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยจะรับข้อสังเกตของสมาชิกไปดำเนินการและปรับปรุง ทุกความเห็น และข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทุกเม็ดเงินเราจะทำด้วยความรอบคอบ จะติดตามสถานการณ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะมีความเหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศ

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า พ.ร.ก.กู้เงินโควิด – 19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลนำไปใช้เยียวยาฟื้นฟู ซึ่งขณะนั้นธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจของประเทศไทยช่วงเดือนมิ.ย.63 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเราจะติดลบ ร้อยละ 8.3 ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเราจะติดลบ ร้อยละ 7.7 แต่เมื่อผ่านพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยติดลบ ร้อยละ 1.1 ซึ่งดีกว่าที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ แสดงให้เห็นว่าการผ่านพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ในตอนนั้นเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยจริงๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้สาธารณะตัวเลขปัจจุบันขณะนี้ จำนวน 8.5 ล้านล้าน หรือประมาณ ร้อยละ 54 ถ้าเราคาดการณ์รวมไปถึงการกู้ขาดดุล หรือพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในสิ้นปีงบประมาณนี้หนี้สาธารณะก็ยังไม่เกิน ร้อยละ 60 เราคาดการณ์ไว้ ร้อยละ 58 – 59 เท่านั้น และเรามีคณะกรรมการการเงิน การคลัง ภาครัฐ ทำหน้าที่พิจารณากรอบ ร้อยละ 60 ในอนาคต

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของเราจะเป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบตรงๆ เพราะมีแหล่งเงินมาคืนที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยในสัดส่วนของกองทุนฟื้นฟูที่เป็นหนี้มาตั้งแต่ปี 40 วันนี้เหลือเงินต้น 7 แสนล้านบาท แหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้หนี้คือเงินที่เราไปเก็บจากเงินฝากที่สถาบันการเงินให้มา เราเก็บได้มาทุกปีก็เอาไปชำระหนี้ส่วนนี้ โดยที่ไม่ได้เอางบประมาณมาชำระหนี้เงินกู้ 7 แสนล้านบาท อีกส่วนคือหนี้รัฐวิสาหกิจบางประเภท ที่มีความสามารถในการชำระคืนได้เองอยู่แล้ว ประมาณ 3 แสนล้าน ดังนั้น หนี้ตรงนี้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จึง ไม่ได้เป็นภาระเพิ่มเติมกับงบประมาณ

จากนั้นเวลา 10.35 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ด้วยคะแนน 270 ต่อ 196 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนเสียง 2 สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติให้ความเห็นชอบแล้ว จะส่งต่อให้วุฒิสภา พิจารณาต่อในวันที่ 14 มิ.ย.นี้