อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจสายพันธุ์โควิด-19 จำนวน 4,185 ราย พบสายพันธุ์อังกฤษมากที่สุด 3,703 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.48 สายพันธุ์อินเดีย 348 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.32 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.34
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศ ซึ่งการร่วมมือนี้จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่เข้มแข็ง และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค การรักษา และการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ในประเทศ ทั้งนี้จากการสุ่มตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์-โค-วี-2 (SARS-CoV-2) ตั้งแต่เดือน เม.ย. –มิ.ย. 2564 รวมจำนวน 4,185 ราย พบว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) มีการพบมากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 3,703 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.48 รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 348 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.32 สายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1 (dade G), B.1 (dade GH), B.1.1.1 (dade GR) จำนวน 98 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.34 สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.62 และสายพันธุ์ B.1.524 จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.24 ซึ่งข้อมูลต่างๆ นี้มีการประสานรายงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ในการควบคุมเฝ้าระวังในพื้นที่ต่อไป
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลรายงานขององค์กรสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (Public Health England) และ WHO พบว่าสายพันธุ์อัลฟา เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้ ส่วนสายพันธุ์เดลตา พบว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา อย่างไรก็ตามยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาแต่อย่างใด วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้ สายพันธุ์เบตา พบว่ามีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยข้อมูลล่าสุด (วันที่ 9 มิ.ย. 2564) มีการรายงานพบสายพันธุ์เดลตา ในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 348 ราย พบในกรุงเทพมหานคร 318 ราย อุดรธานี 17 ราย สระบุรี 2 ราย นนทบุรี 2 ราย ขอนแก่น 2 ราย ชัยภูมิ 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย และสมุทรสาคร 1 ราย การรายงานผลการเฝ้าระวังนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในประเทศ จังหวัด ชุมชน สำหรับเฝ้าระวังติดตามในจังหวัด รวมถึงเป็นข้อมูลในการรักษาโรค และเพื่อให้ประชาชนได้ป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ยังคงมีความสำคัญในการป้องกันโรคนี้เช่นเดิมไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเดินหน้าเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ข้อมูลการเฝ้าระวังกับทุกหน่วย เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ