"ทิพานัน" เตือนอย่าหลงเชื่อแอปฯเงินกู้เถื่อน

2021-06-09 12:10:50

"ทิพานัน" เตือนอย่าหลงเชื่อแอปฯเงินกู้เถื่อน

Advertisement

"ทิพานัน" เตือนอย่าหลงเชื่อแอปฯเงินกู้เถื่อนระบาดในชุมชน กู้ง่ายจ่ายโหด ซ้ำดึงข้อมูลในมือถือไปประจาน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวาดล้างด่วน

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนชุมชนต่างๆในเขตจอมทองและเขตธนบุรี พบว่ามีพี่น้องประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อแอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน กู้หนี้นอกระบบระบาดหนักมาก โดยพฤติกรรมของแอปฯ เงินกู้เถื่อน เหล่านี้จะสร้างภาพให้น่าเชื่อถือทั้งที่ไม่มีบริษัทยืนยันตัวตนได้ และมาชักชวนให้กดลิงก์เข้าร่วมกลุ่มในโซเชียลมีเดีย คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อน และคิดค่าบริการอำพรางดอกเบี้ย หักค่าธรรมเนียมการจัดการสูงถึง 40%ขึ้นไป ได้เงินกู้ไม่เต็มจำนวนหรือเพียงครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้ บางรายถูกหลอกให้โอนเงินค้ำประกันก่อนด้วยจึงจะได้สิทธิกู้ยืมเงิน แต่สุดท้ายแอปเงินกู้เถื่อนก็หลบหนี ทำให้ผู้กู้ไม่ได้ทั้งเงินกู้ และต้องเสียเงินค้ำประกันไปฟรีๆ

น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า ที่สำคัญบรรดาแอปเงินกู้เถื่อนเหล่านี้ยังบังคับให้ผู้สมัครยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นเงื่อนไขในการสมัคร เช่น หมายเลขโทรศัพท์ผู้ติดต่อทั้งหมด รูปภาพและไฟล์ข้อมูลต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเดือดร้อนรำคาญในการถูกติดตามทวงหนี้กับผู้กู้และผู้ใกล้ชิดต่างๆ การใช้ถ้อยคำหยาบคายในการทวงหนี้ หรือจ้างกลุ่มอันธพาลทวงหนี้โหด ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้กู้เอง อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ของผู้กู้อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด ซึ่งการกระทำดังกล่าวของเจ้าหนี้ล้วนเป็นความผิดอาญาฝ่าฝืน พรบ. การทวงถามหนี้ 2558 มีโทษปรับสูงถึง 100,000-500,000 บาท จำคุก 1-5ปี ตามลักษณะการกระทำทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในกรณีเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้คือ 15%ต่อปี เมื่อพิจารณาประกอบ พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา 2560 และเทียบเคียงคำพิพากษาหลายคดีเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 966/2534 ว่าข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เลย และเจ้าหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรายังมีความผิดอาญาตาม ม.4 พรบ.ดังกล่าว คือ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า ขอวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามกวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งใกล้จะมีการเปิดเทอมการศึกษาก็จะมีกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการเงินมาเป็นค่าเทอมและซื้ออุปกรณ์การศึกษา ซึ่งอาจหลงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย อย่างไรก็ตาม หากพี่น้องประชาชนต้องการเงินฉุกเฉิน น.ส.ทิพานัน แนะว่าควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อน โดยเลือกติดต่อกู้เงินจากธนาคาร สถาบันการเงินที่มีเว็บไซต์และแหล่งที่ตั้งชัดเจน มีใบอนุญาตหรือใบขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสามารถตรวจสอบว่าแหล่งเงินกู้อยู่ในกำกับดูแลของ ธปท.โดยนำชื่อบริษัทผู้ให้บริการแอปเงินกู้กรอกข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ ของ ธปท. https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck หากไม่มีรายชื่อปรากฏ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นแอปที่ผิดกฎหมาย อย่าเสี่ยงดำเนินการต่อไป โดยแอปที่ถูกกฎหมายจะให้บริการเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ยตามข้อกำหนดของ ธปท. และติดตามทวงหนี้ตามกรอบของกฎหมาย ขณะนี้เชื่อว่ามีประชาชนที่หลงเชื่อกู้เงินผ่านแอปกู้เงินออนไลน์นอกระบบเป็นจำนวนมาก หากโดนข่มขู่หรือทวงหนี้โหด หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม จากแอปกู้เงินออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย แนะนำให้แจ้งความได้ตามช่องทางดังนี้ 1. สน.ท้องที่ที่ท่านอาศัยอยู่ 2. กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) โทร 02-575-3344 3. ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สนง.เศรษฐกิจการคลัง โทร 1359 4. ศูนย์ปราบหนี้นอกระบบ สนง. ตำรวจแห่งชาติ โทร 1599 5. แก้ปัญหาหนี้นอกระบบกับทางด่วนแก้หนี้ โทร 1213 6.ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร 02-575 3344 และ7.ศูนย์ดำรงธรรม 1567