สภาฯถกงบวันที่ 2 เหลือเวลา 33 ชม.

2021-06-01 13:35:27

สภาฯถกงบวันที่ 2 เหลือเวลา 33 ชม.

Advertisement

สภาฯถกงบวันที่ 2 ยังเหลือเวลาอีก 33 ชม.  “วิรัช” ขอบคุณ วันแรกราบรื่นไปด้วยดี

เมื่อเวลา 09.00 น.  วันที่ 1 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก วันที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม

ทั้งนี้ก่อนเข้าวาระพิจารณานายศุภชัย แจ้งกับที่ประชุมว่า สภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาอภิปรายงบประมาณในวันแรก รวม 13 ชม. 55 นาที 42 วินาที แบ่งเป็น เวลาของ  ครม. 2 ชม. 42 นาที ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 4 ชม. 11 นาที คงเหลือเวลา 15 ชม. 6 นาที จากเวลาที่ได้รับทั้งหมด 22 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้เวลา รวม 7 ชั่วโมง 2 นาที เหลือเวลา 14 ชั่วโมง 57 นาที จากเวลาที่ได้รับ 22 ชม. ขณะที่การใช้เวลาของประธานที่ประชุม รวม 16 นาที 58 วินาที เพราะการประชุมราบรื่น ไม่มีประท้วงทำให้ประธานใช้เวลาน้อย และคงเหลือเวลา 3 ชม. 13 นาที ทั้งนี้การใช้เวลาของวันแรก ขาดไป 40 นาที ตามกำหนดเวลาที่ต้อง เลิก 01.00 น. ดังนั้นขอให้แต่ละฝ่ายบวกลบเวลาเอง

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การอภิปรายงบประมาณ คิดว่าเป็นไปด้วยดี และเชื่อว่าจะผ่านไปด้วยดี ซึ่งตนขอขอบคุณประธาน

จากนั้นได้เข้าสู่วาระการประชุม โดยเริ่มการอภิปรายในสาระของร่างพ.ร.บ.งบปี65 ซึ่งฝ่ายค้านจะอภิปรายเนื้อหาโดยลงรายละเอียดแต่ละกระทรวง  โดยนางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไว้6ด้านภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ล้มเหลวอยู่ในฝันของกลุ่มควบคุมอำนาจ โดยไม่ได้สนใจปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งงบประมาณที่ส่งเข้ามาให้สภาพิจารณาในวันนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะงบประมาณที่ดูแลกลุ่มเปลาะบางทางสังคม และผู้ดอยโอกาส ซึ่งในงบประมาณปี 2565 กลุ่มเปราะบางไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรการการคุ้มครองทางสังคม อีกทั้งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ในสถานการณ์วิกฤติโควิดในประเทศไทยจะมีคนจนเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคน และจะมีอีก 25 ล้านคนที่จะต้องตกงาน แรงงานในประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของแรงงานในประเทศ จึงต้องมาดูว่ามาตรการต่างๆของรัฐได้เข้าถึงทุกคนหรือไม่เพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณ

นางมนพร ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาต่างๆของผู้มีรายได้น้อยหรือขาดรายได้ว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะใช้ระบบสวัสดิการเข้ามาช่วยเหลือ โดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีหรือใช้ระบบเลขประชาชน 13หลัก เพื่อให้ประชาชนอยู่บ้านโดยไม่ต้องอดอยาก และจากการทำงบประมาณของหน่วยงานทั้งสภาพัฒน์ฯและสำนักงบประมาณเคยทราบหรือไม่ว่ากลุ่มเปราะบางหรือผู้ด้อยโอกาสที่ประกอบอาชีพเหล่านี้จะต้องถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร โลกยุคหลังโควิด-19 ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะถูกแทนด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคระบาดเช่นนี้อาจทำให้นายจ้างต้องหันไปใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน แต่ปรากฏว่าในงบประมาณปี 2565 รัฐบาลกลับจัดสรรเงินในการเสริมในการเสริมสร้างการแข่งขันศักยภาพและการแข่งขันเพียง 10.92% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในยุทธศาสตร์ทั้ง6ด้าน และเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไร้ทิศทางไม่สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ การบริหารความหวังของประชาชน คือสิ่งสำคัญที่รัฐบาลได้ให้ความหวังไว้ว่าจะเอาความสุขของประชาชนกลับคืนมา 7 ปีแล้ว ภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นผู้ทำลายความหวังของประชาชนคนไทยเสียเอง ประชาชนคนไทยเจ็บ เจ็บแต่ไม่จบ นั่นก็เพราะความไร้ประสิทธิภาพของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แล้วเปิดโอกาสให้สภาแห่งนี้มีนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ ดังนั้นดิฉันไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี65ได้ เพราะเป็นงบประมาณแบบศรีธนญชัย

จากนั้นนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การจัดสรรงบรายจ่ายปี2565 น่าผิดหวัง งบเอสเอ็มอีถูกตัด รัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การตัดงบบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)คือ การตัดโอกาสที่เอสเอ็มอีจะได้กู้เงิน ตัวเลขล่าสุด รัฐบาลมียอดค้างจ่าย บสย. 56,000ล้านบาท ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้เอสเอ็มอี 4ปีที่ผ่านมากลุ่มทุนใหญ่กู้เงินได้มากขึ้น 35% ผิดกับเอสเอ็มอีกู้ได้ลดลง ถูกตัดออกจากวงจรการเข้าถึงสินเชื่อ รัฐบาลปล่อยทุนใหญ่กลืนกินเอสเอ็มอี รัฐบาลไม่ต้องการช่วยเอสเอ็มอี ทำให้เอสเอ็มอีเสี่ยงต่อการปิดกิจการจำนวนมาก

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมช.คลัง อภิปรายว่า อยากให้มีการสังคายนาระบบงบประมาณใหม่ ไม่ใช่เน้นแต่การสร้างรั้ว สร้างถนน แล้วบอกว่าเป็นการลงทุน เพราะการสร้างถนนที่ไม่มีรถวิ่งไม่ใช่การลงทุน ทำให้เงินลงทุนที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้อยลง สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้คือ ฐานะการคลังและหนี้ของรัฐบาลจากพิษสถาน การณ์โควิด-19 กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ กำลังจะเข้าสู่ภาวะตัวเลขเกินเพดานหนี้60 เปอร์เซนต์ อันเป็นผลจากการตั้งงบประมาณขาดดุลปี2564 และ2565 ค่อนข้างสูง รวมกับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1ล้านล้านบาท ในปี2563 และ5 แสนล้านบาท ในปี2564 ขณะที่รัฐบาลมีรายได้ต่ำ ไม่อยากให้มีการทำผิดกฎหมายโดยการอนุมัติงบรายจ่ายปี2565 เพราะที่ผ่านมา 3ปี ตั้งแต่ปี2563-2565 ประเทศไทยขาดดุลเกิน 1 ล้านล้านบาท มาแล้ว 3ปี ทำให้ตัวเลขหนี้ต่อจีดีพีจะสูงเกิน 60 เปอร์เซนต์แน่นอน ดังนั้นหากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติงบรายจ่ายปี2565 จะทำให้รัฐบาลก่อหนี้เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับเปิดทางให้รัฐบาลทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 –ของผู้ต้องขังในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ตอนนี้มีจำนวนมาก หากเกิดเหตุแบบนี้เกิดขึ้น ญาติเขาจะสบายใจได้อย่างไร เพราะเขาก็เป็นคน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลายคนออกมาต้องมีอาชีพ ตอนนี้เขาเหล่านั้นยังอยู่ในพื้นที่อย่างแออัด ดังนั้นรัฐควรจัดงบประมาณให้เขาไปเลย ซึ่งรมว.ยุติธรรมจะต้องตอบว่าจะทำอย่างไร เพื่อลดความแออัดลงผู้ต้องขังในเรือนจำให้ได้ และเรือนจำประเทศไทยตอนนี้มีผู้ต้องขังมากที่สุดในอาเซียน

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ส่วนงบประมาณกระทรวงกลาโหม ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าปรับลดลงแล้วทุกกระทรวง ซึ่งลดจริงแต่ลดในส่วนที่ไม่สมควร อาทิ งบด้านการศึกษาและสาธารณสุขลดลง ส่วนที่อ้างว่าในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปรับลดนั้นพบว่า มีการปรับลดเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพทั้งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง สำหรับกระทรวงกลาโหมสิ่งที่ตนพุ่งเป้าคือ งบบุคลากรที่กองทัพมีบุคลากรที่เป็นนายพลจำนวนมาก เลื่อนยศตอบสนองกัน แต่ไม่ดูว่าตอนนี้ชาวบ้านลำบาก กองทัพคือปัญหาประเทศ ตนไม่ได้รังเกียจทหาร แต่การจัดงบแบบนี้ทำไม่ได้ การจัดสรรงบฯถามว่าจะไปรบกับใคร และการที่มีทหารเกณฑ์มากกมาย ถามว่าเอาไปทำอะไร ต้องโทษสำนักงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับสิทธิพิเศษตรงงบบุคลากร และยังมีการทำงบผูกพันไว้มาก โดยเฉพาะกองทัพบก ทั้งสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านพัก การเช่ารถยนต์ต่างๆเป็นต้น เหล่านี้ควรลด ไม่ต้องสร้างและไม่ต้องซ่อม รายการปรับปรุงอาคารกองทัพบกต่างๆ จึงฝากชั้นกรรมาธิการว่าอะไรที่เริ่มในงบฯปี 65 ขอตัดให้หมด

“ผมขอวิจารณ์กองทัพอย่างตรงไปตรงมาว่าต้องลดบุคลากรลง ขอฝากนายกรัฐมนตรีเพราะภารกิจหลักกองทัพคือการป้องกันประเทศ ชอบอวดว่าเป็นทหารให้อะไรบ้าง ก็งบไปกองอยู่ที่ทหาร ทหารไม่ต้องทำทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นทหารก็มายุ่งทุกเรื่อง จึงต้องลดบุคลากรลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ขอให้รีดออก 30-40 เปอร์เซนต์ ทหารไทยต้องปฏิรูปตนเอง อย่าคิดว่ายิ่งใหญ่ ต้องเป็นทหารอาชีพ ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ งบที่ไม่ใช่ภารกิจหลักทหาร ขอให้โอนให้ฝั่งพลเรือนที่เกี่ยวข้องเขาดำเนินการ เพราะมันไม่คุ้มค่า ฝากกรรมาธิการ (กมธ.)ว่างบกองทัพอะไรที่ไม่มีความจำเป็น ขอให้ตัดงบทหารออกกมาช่วยโควิด-19 ทั้งหมด และผมไม่เห็นด้วยกับการจัดงบฯครั้งนี้ เพราะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน” นายสมคิด กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานในช่วงหนึ่งระหว่างที่นายเกษม อุประ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กำลังอภิปราย ปรากฎว่านายศุภชัย รองประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ขออนุญาตพูดขัดจังหวะนายเกษมขึ้น เพื่อเตือนนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

นายศุภชัย ระบุว่า ฝากถึงส.ส.อมรัตน์ยืนคุยกันใกล้ๆ ขอความกรุณาอย่าถอดแมสก์ เพราะนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เน้นย้ำมา” จากนั้นนายศุภชัยได้ให้นายเกษมอภิปรายต่อ
































การเมือง/ รัฐสภา/ 1 มิ.ย./สิริกันยา ห้องประชุม *** ข่าว งบประมาณ