เปิดตัวแอนิเมชั่น "มิสเตอร์เคที" (คลิป)

2021-04-02 16:05:09

เปิดตัวแอนิเมชั่น  "มิสเตอร์เคที"   (คลิป)

Advertisement

“กรุงเทพธนาคม” เปิดตัวแอนิเมชั่น มิสเตอร์เคที ให้ความรู้การกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า รูปแบบใหม่ของกรุงเทพมหานคร สร้างการเรียนรู้การจัดการขยะของเมืองเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ดร.เกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า จากที่กรุงเทพมหานครได้ว่าจ้าง บริษัทฯให้ดำเนินโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน ระยะเวลาสัญญา 20 ปี ซึ่งขณะนี้ได้เปิดทดลองระบบมาระยะหนึ่งแล้ว ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ถือได้ว่าโครงการดังกล่าว เป็นโรงงานกำจัดมูลฝอยผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร โดยมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ เป็นโครงการต้นแบบและนำร่องการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนแบบบูรณาการด้วยกระบวนการเชิงกล-ชีวภาพ หรือ Mechanical-Biological-Treatment : MBT เป็นการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และมีความเหมาะสมกับสภาพของขยะของกรุงเทพมหานคร ที่องค์ประกอบของขยะส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ โดยมีผลพลอยได้เป็นขยะเชื้อเพลิง (RDF) และขยะรีไซเคิล ซึ่งจะเหลือกากของเสียที่ต้องนำไปกำจัดน้อยที่สุด

ดร.เกรียงพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากระบบการกำจัดขยะที่บริษัทฯได้นำใช้นั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งประชาชนอาจยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้จัดทำวีดีโอแอนิเมชั่นเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถรับชมได้ทาง เพจเฟสบุค บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และทางยูทูป ตามลิงก์​ https://www.youtube.com/watch?v=fSwM4RYppGY เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีการพัฒนาไปจากอดีต เผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็ก เยาวชนและนักศึกษาที่นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดีย สามารถเข้าใจการบริหารจัดการขยะของกรุงเทพมหานครได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น




ทั้งนี้การกำจัดขยะด้วยกระบวนการเชิงกล-ชีวภาพ มีขั้นตอนคือ เมื่อมูลฝอยเข้ามาในโรงงานจะถูกลำเลียงไปยังระบบคัดแยกเพื่อแยกมูลฝอยขนาดใหญ่ และมูลฝอยประเภทโลหะ ส่วนที่เหลือนำเข้าบำบัดต่อด้วยระบบย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยถังเตรียมหมัก (BIODAMP) และเครื่องบีบอัด (Screw Press) ในขั้นตอนนี้จะแยกกากของขยะเป็นขยะเชื้อเพลิง (RDF) และได้น้ำชะมูลฝอยความเข้มข้นสูงส่งไปยังถังหมักแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion ; AD) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพก่อนส่งเข้าสู่เครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป นอกจากนี้บริษัทฯยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้รอบโรงงานเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดผลกระทบด้านกลิ่น เสียง ให้กับชุมชนใกล้เคียงโครงการ และสอดคล้องกับนโยบายการสร้างมหานครสีเขียวของกรุงเทพมหานคร