WHO เตือนเฝ้าระวังพิเศษ อีโบลาระบาดในแอฟริกา

2021-02-16 10:10:11

WHO เตือนเฝ้าระวังพิเศษ อีโบลาระบาดในแอฟริกา

Advertisement


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงในวันจันทร์ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์ คองโก และกินี ถือเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า ทุกคนก็รู้แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการตรวจพบการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในดีอาร์ คองโก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 4 คน และเสียชีวิต 2 คน และเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลกินี ประกาศพบอีโบลาระบาดเช่นกัน ในเมืองกูเค ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ จนถึงขณะนี้ ยืนยันมีผู้ติดเชื้อ 3 คนในจำนวน 7 คนที่รายงานว่ามีอาการคล้ายติดเชื้อไวรัสอีโบลา ภายหลังเข้าร่วมพิธีฝังศพแห่งหนึ่งในช่วงปลายเดือนมกราคม เสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ ยังมีคนอื่น ๆ อีก 4 คนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส กล่าวด้วยว่า เขาต้องการบอกว่า การฉีดวัคซีนเริ่มต้นขึ้นในดีอาร์ คองโกในวันจันทร์ และจนถึงขณะนี้ มีประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว 43 คน จากผู้ขอใช้สิทธิ์ 149 คน รวมทั้ง 20 คน ที่ฉีดวัคซีนระหว่างการระบาดรอบแรกในปี 2562 โดย WHO กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทั้งสองประเทศ เพื่อการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ส่งเสริมข้อเท็จจริงและการยอมรับ เพราะอีโบลาและโควิด-19 เป็นโรคที่มีความแตกต่างกันมากทั้งในแง่ของการให้ข้อมูลที่ผิดและความไม่ไว้วางใจ แต่ไวรัสมรณะทั้งสองชนิด ก็สามารถหยุดยั้งได้ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว, เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน, ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและฉีดวัคซีน



ทั้งนี้ ดีอาร์ คองโกยืนยันผู้ติดเชื้ออีโบลา 4 คน ตั้งแต่มีการประกาศพบการระบาดใหม่ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในเมืองบูเตมโบ ศูนย์กลางการระบาดก่อนหน้านี้ ซึ่งถูกประกาศในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว WHO แถลงผ่านทวิตเตอร์ในวันจันทร์ว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนต้านอีโบลา เริ่มต้นขึ้นในเมืองบูเตมโบ ทางตะวันออกของดีอาร์ คองโก

ส่วนกินี ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ก็ประกาศพบการระบาดของอีโบลาครั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ติดเชื้อ 7 คน และเสียชีวิต 3 คน



WHO ให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนกินี ช่วยจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้ออีโบลา ซึ่งเคยควบคุมการระบาดในดีอาร์ คองโก ได้ในการระบาดล่าสุด โดยทีมงานของ WHO พร้อมที่จะลงพื้นที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อและควบคุมโรคในหน่วยงานด้านสาธารณสุข และสถานที่สำคัญอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดศูนย์รักษาอีโบลาในเมืองเอ็นเซเรโกเร ภูมิภาคกูเยเค ที่ซึ่งมีการประกาศเป็นพื้นที่การระบาดของโรค

เชื้อไวรัสอีโบลา จะทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงรุนแรง และยังมีเลือดออกไม่หยุดด้วย แพร่เชื้อผ่านการติดต่อกันทางของเหลวในร่างกาย

การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของไวรัสอีโบลา ต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นในปี 2014 ในกินี และยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปี 2016 ระบาดเข้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน มีประชาชนมากกว่า 28,000 คน ติดเชื้อ และเสียชีวิตมากกว่า 11,000 คน