เมียนมายังใช้เน็ตไม่ได้ แต่การประท้วงขับไล่เผด็จการยังเดินหน้า

2021-02-16 08:10:10

เมียนมายังใช้เน็ตไม่ได้ แต่การประท้วงขับไล่เผด็จการยังเดินหน้า

Advertisement

รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตเป็นคืนที่ 2 ติดต่อกัน โดยกลุ่มสังเกตการณ์อินเตอร์เน็ต เน็ตบล็อกส์ (NetBlocks Internet Observatory) ที่มีสำนักงานอยู่ในสหราชอาณาจักร รายงานว่า “มีการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตเกือบทั้งหมด” ในประเทศ จากเวลา 01.00น.ของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 01.30 น.ตามเวลาในไทย การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ ลดลงมาเหลือ 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากระดับปกติเมื่อคืนที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วตั้งแต่ยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ขณะที่รัฐบาลทหารพยายามที่จะปิดปากผู้ต่อต้าน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ช่องทางออนไลน์

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารประกาศลงโทษรุนแรงสำหรับคนที่ต่อต้านบรรดาผู้นำก่อรัฐประหาร ด้วยการขู่อาจถูกจำคุกสูงสุด 20 ปี และปรับเงินด้วย ในขณะที่คนที่กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัว หรือก่อความไม่สงบในที่สาธารณะ อาจถูกจำคุก 3-7 ปี รัฐบาลทหารให้อำนาจตัวเองในวันเสาร์สามารถทำการจับกุม, ตรวจค้นและควบคุมตัวประชาชนไว้ได้นานกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องนำตัวขึ้นศาล

การปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตครั้งล่าสุดนี้ เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่กองทัพมีจุดประสงค์เพื่อต้องการหยุดยั้งการประท้วงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในการแสดงพลังต่อต้านการยึดอำนาจผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรวมทั้งนางออง ซาน ซู จี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยมายาวนาน ขณะนี้ยังถูกควบคุมตัวอยู่




รายงานข่าวระบุว่า การเข้าใช้เฟชบุ๊ก ซึ่งเป็นสื่อสังคมหลักในการรณรงค์กระแสต่อต้านแบบอารยะขัดขืน ถูกจำกัดทันทีหลังการยึดอำนาจ การใช้ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม ถูกปิดกั้นไปด้วย ด้านเทเลนอร์ บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ แถลงว่า จะไม่มีการปรับปรุงรายข้อมูลอะไรผ่านเว็บไซต์ของบริษัทอีก สถานการณ์ยังสับสนและไม่ชัดเจน พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า ความปลอดภัยของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

ส่วนกองทัพก็ส่งทหารคุมพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ด้านยุทธศาสตร์หลายแห่ง ทหารเข้ามาทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่นในย่างกุ้ง เมืองใหญ่สุดของประเทศ มียานยนต์หุ้มเกราะ 8 ล้อเข้ามาอยู่ตามท้องถนน ซึ่งบางครั้งก็มีประชาชนที่ต่อต้านการยึดอำนาจบีบแตรไล่



ขณะที่ การประท้วงในวันจันทร์ ประชาชนพุ่งเป้าไปที่อาคารธนาคารชาติ, สถานทูตสหรัฐและจีน และสำนักงานใหญ่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดีของนางซู จี นอกจากนี้ ยังมีผู้ประท้วงส่วนหนึ่งไปรวมตัวกันกลางเมืองมัณฑะเลย์อีกครั้งในวันจันทร์ และมีรายงานว่า ทหารยิงกระสุนยางเพื่อสลายฝูงชนด้วย

ในกรุงเนปิดอว์ มีนักศึกษาเข้าร่วมประท้วงด้วย และมีหลายสิบคนถูกจับกุมตัว แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน ยังมีประชาชนอีกหลายเมืองจัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังในเวลากลางคืน เพื่อขัดขวางยานยนต์หุ้มเกราะที่ทางกองทัพส่งเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้น

สถานทูตชาติตะวันตกหลายสิบแห่ง ซึ่งรวมทั้งสหรัฐ, สหภาพยุโรป หรืออียู, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, เยอรมนีและฝรั่งเศส ต่างเรียกร้องให้กองทัพ “อดทนไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงและพลเรือน” พร้อมทั้งอ้างถึงการควบคุมตัวนางซู จี และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหนึ่งปี หลังโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง



พวกเขาระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งในวันอาทิตย์ว่า พวกเราสนับสนุนประชาชนเมียนมาในการเรียกร้องประชาธิปไตย, เสรีภาพ, สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง โลกกำลังเฝ้าจับตาดู

คลื่นการประท้วง ครั้งใหญ่ที่สุดในเมียนมาตั้งแต่วิกฤตปี 2550 ดึงดูดผู้คนหลายหมื่นลงสู่ถนนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซู จี และคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน ขณะนี้ นางซู จี ถูกกักบริเวณหลังตำรวจแจ้งว่า พวกเขาค้นพบวิทยุสื่อสารว็อล์กกี้-ท็อล์กกี้ ผิดกฎหมายที่บ้านพักของเธอ

ทนายความของซู จี กล่าวว่า เบื้องต้นการควบคุมตัวนางซู จี เพื่อรอการพิจารณาคดี มีกำหนดถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลยึดเวลาออกไปเป็น 17 กุมภาพันธ์