“พระพรหมเอราวัณ” 61 ปีแห่งความศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์ ใจกลางกรุง

2017-11-09 15:00:34

“พระพรหมเอราวัณ” 61 ปีแห่งความศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์ ใจกลางกรุง

Advertisement

ภาพ @fm91trafficpro

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ประชาชนจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างเดินทางมาสักการบูชา ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์กันอย่างเนื่องแน่น เนื่องด้วยทุกวันที่ 9 พฤศจิกายน ถือเป็นวันเกิดของ พระพรหมเอราวัณ หรือ วันที่มีการอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ บริเวณแยกราชประสงค์ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ปี 2499 ก่อนหน้าที่จะกลายเป็นสถานที่สักการะยอดนิยมของทั้งชาวไทยและต่างชาติมาตลอดระยะเวลา 61 ปีเต็ม

ด้วยวาระครบรอบนี้ นิว 18 จึงขอย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของตำนานสถานที่แห่งศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์ ใจกลางกรุงแห่งนี้กัน





ภาพ omyim1637 / Shutterstock.com

จุดเริ่มต้น
เมื่อ พ.ศ. 2494 พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นได้กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่กระทั่งเวลาผ่านไปถึงช่วงปลายปี 2499 ทาง บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม

พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์จึงความจำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม โดยต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป รวมถึงต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม




ภาพ Silentgunman / Shutterstock.com

ด้วยเหตุนั้นจึงได้มีการตั้งศาลพระพรหม ออกแบบตัวศาลโดยนายระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ปี 2499

ปัจจุบัน ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ อยู่ในความดูแลของ "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม" โดยมีการรำละครชาตรี แก้บนกันเป็นประจำทุกวัน ซึ่งเป็นที่นิยมมาก ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ


ภาพ NICOLAS ASFOURI / AFP

ภัยทำลายมิอาจสลายศรัทธา
ระหว่างเส้นทางแห่งความศรัทธาของมวลชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณได้เคยรับได้รับความเสียหายครั้งสำคัญจำนวน 2 ครั้งด้วยกัน

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2549
ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณถูกชายวิกลจริคใช้ค้อนทุบทำลายซึ่งทำให้ตัวองค์แตกเสียหาย ด้วยเหตุนั้นจึงมีกำหนดการที่จะบูรณะพระองค์ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับสร้างองค์ใหม่ด้วย แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน ต่อมา มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ได้ทำพิธีอัญเชิญองค์ท่านท้าวมหาพรหม ที่บูรณะเสร็จแล้วกลับมาประดิษฐานที่เทวาลัย ในวันที่ 21 พ.ค. 2549 เวลา 11.39 น. โดยอัญเชิญเป็นขบวนจากกรมศิลปากรมาจนถึงศาลท้าวมหาพรหม


ภาพ SAEED KHAN / AFP

สำหรับครั้งที่สองนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 เวลา 18.55 น. หลังมีการระเบิดขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ใกล้กับศาลท้าวมหาพรหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่าเป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 5 กิโลกกรัม ถูกบรรจุอยู่ในท่อภายในบริเวณศาลท้าวมหาพรหม โดยมีรัศมีการทำลายล้าง 30 เมตรจากจุดระเบิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 70 ราย และเสียชีวิตทันทีถึง 16 ราย โดยองค์เทวรูปท้าวมหาพรหมได้รับเสียหายทั้งหมด 12 จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนคาง ใช้งบประมาณในการบูรณะ 70,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 9 วัน




ภาพ CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

วิธีสักการะบูชาพระพรหมเอราวัณที่ถูกต้อง
เนื่องด้วยการบูชาพระพรหมมีวิธีการบูชา เพราะองค์พระพรหมท่านมี 4 พักตร์ 4 ทิศ ฉะนั้นการบูชาจึงควรบูชาให้ครบทั้ง 4 พักตร์ (4 ทิศ) หากจะบูชาเฉพาะหน้าเดียวนั้นไม่นับว่าเป็นข้อห้ามหรือเรื่องผิดแต่ทว่าจะได้พรเพียงเรื่องเดียวจากท่าน ดังนั้นการที่จะได้รับพรครบทุกประการจึงจำเป็นต้องมีวิธี วิธีการอย่างแรกต้องเตรียมของในการสักการะพระพรหมให้ครบ 4 ธาตุก่อน

ธาตุที่ว่ามีดิน น้ำ ลม ไฟ

1.ธาตุดิน คือ ดอกบัว

2.ธาตุน้ำ คือ น้ำสะอาด

3.ธาตุลม คือ ธูป

4.ธาตุไฟ คือ เทียน


ภาพ LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

การสักการะองค์พระพรหมเริ่มจากพักตร์แรกและเวียนขวามือของเรา ซ้ายมือของท่าน จนไปถึงหน้าสุดท้าย การขอพรทุกพักตร์จะมีความหมายต่างกัน

- พักตร์แรก ใช้ธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
สำหรับความหมายพักตร์แรกให้ขอเกี่ยวกับเรื่องการงาน การเรียน สิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต การสอบ ขอพรเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งงานและความก้าวหน้าในชีวิต ขอเกี่ยวกับเรื่องพ่อ
- พักตร์ที่สอง ใช้ธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด พักตร์ที่สองขอเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ อยากมีหรืออยากได้ให้ขอหน้านี้



- พักตร์ที่สาม ใช้ธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด พักตร์ที่สามให้ขอเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ คู่ชีวิต ครอบครัว ญาติพี่น้อง เรื่องเกี่ยวกับแม่ คู่สัญญา หุ้นส่วน ความมั่นคงของชีวิต
- พักตร์ที่สี่ ใช้ธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด พักตร์ที่สี่ขอเกี่ยวกับเรื่องโชคลาภ สิ่งที่ได้มาโดยบังเอิญ การขอกู้ยืมเงิน ขอออเดอร์สินค้า เรื่องของบุตร ใครยังไม่มีบุตรให้มาขอได้ ประสบผลสำเร็จรวมทั้งหนี้สิน ที่มีคนยืมไปแล้วไม่คืน
รวมธูปที่ต้องใช้ทั้งสิ้น 110 ดอก เทียนทั้งสิ้น 36 เล่ม ดอกบัวทั้งสิ้น 36 ดอก น้ำเปล่า 4 ขวด


ภาพ PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

บทสวดพระพรหมของศาสนาพราหมณ์
โอม ปะระเมสะมะ มัสการัม
องการะนิสสะวะ รัง พรหมเรสสะยัมรูปัสสะวะวิษณุไวยะ ทานะโมโทติลูกปัม ทะระมา ยิกยานัง



ยะไวยะลาคะมุลัมสะทานันตะระ วิมุสะตินันนะมัตเตนะมัตเตร
จะ อะการัง ตะโกวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมันตะราม กัตถะนารัมลา จะสะระวะปะติตัมสัมโภพะกลโก ทิวะทิยัมมะตัมยะ


ภาพ NICOLAS ASFOURI / AFP

บทสวดพระพรหมของศาสนาพุทธ
- โองการพินธุนาถัง อุปปันนัง
พรหมมาสะหะปะตินามะ
อาทิกัปเป สุอาคะโต ปัญจะปะทุมมังทิสะวา
นะโมพุทธายะ วันทะนังฯ
- โอม พรหมมะเณ นะมะ โองการพินทุ นาถังอุปปันนาถัง
สุอาคะโต ปัญจะปะทุมมัง
พรหมมาสะหัมปะตินามังทิสสะวา นะโมพุทธายะ วันทานัง
- โอม พระพรหมมา ปฏิพาหายะ
ทุติยัมปิ พระพรหมมา ปฏิพาหายะ
ตะติยัมปิ พระพรหมมา ปฏิพาหายะ
- พรหมมาจิตตัง ปิยังมะมะ
นะชาลีติ นะมะพะทะ
นะมะอะอุ เมกะอะอุ
- ปิโย เทวะ มะนุสสานังปิโย พรหมมา นะมุตตะมัง
ปิโย นาคะ สุปันณานังปินินทะริยัง นะมามิหัง