“นางนพมาศกับประเพณีลอยกระทง” ตำนานนี้มีที่มา

2017-11-02 14:08:38

 “นางนพมาศกับประเพณีลอยกระทง” ตำนานนี้มีที่มา

Advertisement

อีกเพียงชั่วข้ามคืนทุกท่านก็จะได้สัมผัสความสวยงามของประเพณีแห่งสายน้ำ “เทศกาลลอยกระทง” กันแล้ว โดยสีสันของวันนี้นอกจากผู้คนทุกเพศทุกวัยจะพากันมาลอยกระทงริมฝั่งแม่น้ำกันอย่างเนืองแน่นแล้ว อีกหนึ่งภาพความประทับใจที่เราจะได้เห็นคุ้นตากันในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวงนี้นั่นก็คือ การประกวดนางนพมาศ ซึ่งสร้างความสดชื่นคึกคักให้กับทุกเวทีมาโดยตลอด


ย้อนกลับไปค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า...เพราะเหตุใดนางนพมาศจึงเกี่ยวข้องกับประเพณีลอยกระทง? ได้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้อย่างน่าสนใจ เผยแพร่ในวิกิพีเดียดังนี้


นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี เกิดในรัชกาลพญาเลอไท กษัตริย์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง มีรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่งดงาม ได้รับการอบรมจากบิดามารดาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นผู้มีความรู้ทางอักษร พระพุทธศาสนา การช่างของสตรี รวมไปถึงการขับร้องเสียงดนตรี ด้วยความที่นางนพมาศ มีความเพียบพร้อมทุกด้าน ทำให้นางได้เข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไท หลังจากเข้ารับราชการ นางนพมาศก็ได้ขึ้นมาเป็นสนมเอก และเปลี่ยนชื่อเป็น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์


กาลต่อมานางนพมาศ ได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วง ซึ่งที่สำคัญๆ มีอยู่ 3 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ 5วัน ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) นางได้คิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก



เรื่องที่ 2 ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทรัศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
เรื่องที่ 3นางนพมาศ ได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่าแต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้


นอกจากนี้ นางนพมาศ ยังได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย โดยตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้แต่งด้วยร้อยแก้วมีกลอนดอกสร้อยแทรก ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะภาษาที่ใช้แตกต่างจากภาษาที่ใช้ในวรรณคดีที่แต่งในยุคเดียวกันคือศิลาจารึกหลักที่ 1 และไตรภูมิพระร่วง โดยเนื้อเรื่องในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทย เช่น การประดิษฐ์พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และได้กลายเป็นต้นแบบของการประกวดนางนพมาศในค่ำคืนวันลอยกระทงของทุกๆ ปีนั่นเอง



ในส่วนของความหมายและที่มาของประเพณีลอยกระทงซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 นั้นกำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อแม่พระคงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที ประเทศอินเดีย และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทง ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี จวบจนปัจจุบันได้มีการจัดต่อเนื่องในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป