"ดร.แก้ว"เผยข้อดี “วิตามินซี” ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน

2020-12-19 08:00:10

"ดร.แก้ว"เผยข้อดี “วิตามินซี” ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน

Advertisement

"ดร.แก้ว"เผยข้อดี “วิตามินซี” ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เสริมการสังเคราะห์คอลลาเจน พร้อม ขุดข้อมูลการศึกษานานาชาติ ยังไม่พบ “วิตามินซี” ในน้ำสลายเป็น L-tartrate

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า วิตามินซีเป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่ช่วยสังเคราะห์โปรตีนคอลลาเจน ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่าควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดี เพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวของคนเราควรได้รับ นอกจากนี้วิตามินซียังช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค อย่างไรก็ตาม ด้วยสรรพคุณดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันพบว่ามีการผลิตเครื่องดื่มที่เติมวิตามินซีลงไปด้วย และกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่เนื่องจากวิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อน หรือแสง โดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซี ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสง พร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่นได้ 

ดร.แก้ว กล่าวว่า ทั้งนี้ ภายหลังจากศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เก็บตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซีในท้องตลาด 47 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติกรที่ได้มาตรฐาน และพบว่าเครื่องดื่มบางยี่ห้อไม่ปรากฏว่ามีวิตามินซีผสมอยู่แต่อย่างใด ซึ่งต่อมาทางบริษัทผู้ผลิตบางแห่งได้ชี้แจงว่า วิตามินมีความเปราะบางอาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่าย และเร็วกว่าวิตามินตัวอื่นๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิมนั้น ซึ่งตรงกับข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซี รวมถึงตนด้วย อย่างไรก็ตาม ตนได้ค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำรานานาชาติ จำนวนมาก ก็พบการวิจัย 1 เรื่อง คือ Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะในวารสาร Free Radical Research ซึ่งได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือน พบว่าเมื่อวิตามินซีสลายตัวจนกลายเป็นสารอื่น แต่ไม่ใช่ L-tartrate ส่วนที่มีการระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงของวิตามินซีไปเป็น L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่าจะมีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้หรือไม่

ใจความสรุปในการศึกษาข้างต้นระบุว่าเมื่อผูวิจัยได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต พบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศที่ทำการวิจัย ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิก(วิตามินซี) ถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://chaladsue.com/article/3560