เตือน"ฝุ่นพิษ"ทำลาย"ภูมิคุ้มกัน"เสี่ยงติดโควิด-19

2020-12-15 17:05:00

เตือน"ฝุ่นพิษ"ทำลาย"ภูมิคุ้มกัน"เสี่ยงติดโควิด-19

Advertisement

"หมอ" ย้ำเตือน "ฝุ่นพิษ" พุ่งสูงเสี่ยงติด "โควิด" ง่ายขึ้น ชี้เหตุเพราะ"ภูมิคุ้มกัน"ถูกทำลาย


เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เเถลงข่าวกรณีสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งตรวจพบเกินค่ามาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากประเทศไทยจะกำลังเผชิญกับไวรัสโควิด-19 แล้ว เรายังต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ซึ่งหลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังเป็นพื้นที่สีแดง หรือเป็นสีม่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย และจากการศึกษาทางระบาดวิทยาของเมืองในยุโรปและอเมริกา พบว่า ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน จะมีโอกาสต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 เมื่อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจจะไปทำลายภูมิคุ้มกันและระบบการป้องกันในทางเดินหายใจ ทำให้เสี่ยงต่อการติดไวรัสโควิด-19 ได้มากขึ้น


ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า แหล่งกำเนิด PM 2.5 เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปฐมภูมิ ประกอบด้วย การเผาไหม้ของเกษตรกรในที่โล่งแจ้ง, ควันเสียโรงงานอุตสาหกรรม, ไอเสียจากยานพาหนะ, ฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง ซึ่งฝุ่นปฐมภูมิถือเป็นฝุ่นที่ฟุ้งตลบอยู่รอบตัวเรา ส่วนฝุ่นทุติยภูมิ คือ ก๊าซบางชนิด เช่น ก๊าซแอมโมเนีย หรือไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ลอยสูงเหนือระดับพื้นดินก่อนทำปฏิกิริยาแล้วตกลงมากลายเป็น PM 2.5 โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวจะเกิดสภาวะอากาศที่อัดแน่น ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ที่น่ากลัว คือ ถ้าฝุ่นที่เล็กกว่า 0.3 ไมโครเมตร สามารถเล็ดลอดผ่านกระแสเลือดของเราเข้าไปในปอดได้ จากนั้นจะไปตามอวัยวะที่มีเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้ผู้ป่วยที่รับฝุ่นเข้าไปจำนวนมากจะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด คนป่วยเป็นโรคไต อาจทำให้ไตเสื่อมเรื้อรังได้ง่ายขึ้น ขณะที่ทารกในครรภ์อาจเกิดอาการผิดปกติ คือ เมื่อคลอดออกมาแล้วจะมีน้ำหนักตัวน้อย ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน PM 2.5 ที่ได้รับการการันตีจากกระทรวงสาธารณสุข หรือมีตรา มอก. เพื่อความปลอดภัยในระยะนี้