"ดีอีเอส" ดำเนินคดี 496 ยูอาร์แอลโพสต์ผิด ก.ม.

2020-12-09 13:25:53

"ดีอีเอส" ดำเนินคดี 496 ยูอาร์แอลโพสต์ผิด ก.ม.

Advertisement

"ดีอีเอส" ดำเนินคดี 496 ยูอาร์แอล พบหลักฐานชัดเจนโพสต์ละเมิด ผิดกฎหมายความมั่นคงฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ช่วง 13 ต.ค.- 4 ธ.ค.  เตือนใช้สื่อโซเชียลอย่างสร้างสรรค์ แม้จะใช้บัญชีอวตาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถสืบทราบตัวบุคคลได้

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.  นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงข่าวการดำเนินคดีเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ระหว่างวันที่ 13 ต.ค. – 4 ธ.ค. 63  ว่า ได้รวบรวมหลักฐานและดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ทั้งสิ้น 496 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 284 ยูอาร์แอล ยูทูบ 81 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 130 ยูอาร์แอล และอื่นๆ 1 ยูอาร์แอล  ในส่วนนี้ ได้ดำเนินการพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลแล้ว จำนวน 19 บัญชี แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 15 ราย และ ทวิตเตอร์ 4 ราย โดยส่งข้อมูลผู้กระทำความผิดให้ บก.ปอท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายแล้ว  สำหรับผลการทำงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) กองกฎหมาย ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งได้ร่วมกันตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดบนสื่อสังคมออนไลน์ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 13 ต.ค. - 4 ธ.ค. 63

“ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นบัญชีจริงหรืออวตาร เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลได้ การโพสต์ใดๆ ควรเป็นไปอย่างมีวิจารณญาณสร้างสรรค์และเคารพกฎหมาย” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ขณะที่ การดำเนินการของเพจอาสา จับตา ออนไลน์ ในเดือน พ.ย. 63 ได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมายจากประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 11,914 ยูอาร์แอล โดยจากการตรวจสอบ พบว่า ซ้ำซ้อน ไม่พบยูอาร์แอลนั้นๆ ไม่เข้าข้อกฎหมาย จำนวน 11,088 ยูอาร์แอล  และมีจำนวนที่เข้าข้อกฎหมาย 826 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 357 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 231 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 160 ยูอาร์แอล, Tiktok 4 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์ อื่นๆ 74 ยูอาร์แอล โดยศาลมีคำสั่งแล้วจำนวน 765 ยูอาร์แอล และอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 61 ยูอาร์แอล

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (แพลตฟอร์ม) ที่ไม่ดำเนินการปิด/ลบเนื้อหาผิดกฎหมายภายใน 15 วัน ตามที่มีการส่งหนังสือไปแจ้งเตือนให้ดำเนินการ โดยในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีการดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว 2 ชุด และคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีการทำหนังสือแจ้งเตือนอีก 1 ชุด โดยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนชุดที่ 5 และครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 63 จำนวน 718 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 487 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 98 ยูอาร์แอล คงเหลือ 389 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 137 ยูอาร์แอล ปิดแล้วทั้งหมด, ทวิตเตอร์ 81 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 8 ยูอาร์แอล คงเหลือ 73 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 13 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 6 ยูอาร์แอล คงเหลือ 7 ยูอาร์แอล โดยในชุดที่ 5 นี้ อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบมอบหมายผู้แทนร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 ต่อ ปอท. ต่อไป สำหรับชุดที่ 6 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 และครบกำหนด 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 312 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 167 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 49 ยูอาร์แอล คงเหลือ 118 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 111 ยูอาร์แอล ปิดแล้วทั้งหมด, ทวิตเตอร์ 28 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 5 ยูอาร์แอล คงเหลือ 23 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์อื่นๆ 6 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 1 ยูอาร์แอล คงเหลือ 5 ยูอาร์แอล จากนี้เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอความเห็นชอบร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 กับเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป ขณะที่ ภายในสัปดาห์นี้ เตรียมทำหนังสือแจ้งเตือนต่อแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นชุดที่ 7 จำนวน 607 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 331 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 22 ยูอาร์แอล คงเหลือ 309 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 144 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 65 ยูอาร์แอล คงเหลือ 79 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 128 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 6 ยูอาร์แอล คงเหลือ 122 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์ อื่นๆ 4 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 2 ยูอาร์แอล คงเหลือ 2 ยูอาร์แอล