"ซูเปอร์โพล" เผย ปชช.ยังเชื่อมือ "บิ๊กตู่" บริหารประเทศต่อ ชี้เหตุยังไม่มีคนที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ราษฎรพอใจ"ลุงตู่" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,191 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงเรื่องราวต่างๆ ที่กลุ่มราษฎร พอใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินกรณีบ้านพักทหาร พบว่า อันดับแรกที่เป็นส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.4 ระบุว่า เรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชน กองทุนเสมอภาคการศึกษา รองลงมาร้อยละ 85.2 ระบุว่า เรื่อง มลพิษและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคูคลองให้สะอาดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ชุมชน ร้อยละ 84.6 ระบุ เรื่อง การค้ามนุษย์ ร้อยละ 83.5 ระบุ เรื่อง ยาเสพติด ร้อยละ 83.4 ระบุ เรื่อง เศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 83.3 ระบุเรื่อง ภัยพิบัติต่างๆ ร้อยละ 83.2 ระบุเรื่อง ปากท้อง เศรษฐกิจ ฐานราก ร้อยละ 82.1 ระบุเรื่อง อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร ร้อยละ 78.6 ระบุ เรื่อง ตอบสนองความต้องการกลุ่มย่อย ๆ ใน ม็อบ เช่น สิทธิของกลุ่ม LGBTQ เด็ก สตรี และคนกลุ่มน้อยต่างๆ และร้อยละ 76.4 ระบุ เรื่อง โควิดระบาดรอบใหม่ ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล ระบุอีกว่า ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามความเห็นของกลุ่มราษฎรต่อนักการเมืองที่บริสุทธิ์ เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 ระบุว่าไม่มี ขณะที่ร้อยละ 19.9 ระบุว่า มี เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายสุทิน คลังแสง เป็นต้น ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามความต้องการของกลุ่มราษฎรต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ ผู้นำฝ่ายปกครอง ไปกางเต้นท์สนามบัญชาการซ่อมแซมฟื้นฟูเยียวยาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ที่เสียหายให้กลับสู่ปกติสุขโดยเร็วที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.5 ต้องการ มีเพียงร้อยละ 5.5 ที่ไม่ต้องการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล ระบุเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องตอบสนองความต้องการของกลุ่มราษฎร โดยนายกรัฐมนตรี ต้องถือธงนำในการจัดการประเทศในมิติทางสังคม เพื่อฟื้นฟูเยียวยาตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของกลุ่มราษฎรควบคู่ไปกับมิติด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและความพึงพอใจอย่างรวดเร็วฉับไวด้วยข้อมูลที่วิเคราะห์จิตพิชิตใจ ตอบสนองที่เป็นรูปธรรมกุมหัวใจทุกกลุ่มเป้าหมายมากกว่าใช้วาทกรรมทางการเมืองที่กลุ่มราษฎรจับต้องไม่ได้ จึงเสนอให้นับจากวันนี้ไป เรื่องราวของกลุ่มราษฎรในมิติทางสังคม เช่น การปฏิรูปศึกษา กองทุนเสมอภาคการศึกษา ยาเสพติด ค้ามนุษย์ มลพิษและสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขของประชาชน น่าจะโดดเด่นขึ้นด้วยพลังสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายกลุ่มพลเมือง (Civil Society) ผ่านกลไกจิตอาสาทั้ง 77 จังหวัดของประเทศ ผลที่ตามมา คือ เสาหลักของชาติน่าจะได้รับการเสริมความแข็งแกร่งจากกลุ่มราษฎรมากขึ้นไปอีกได้ไม่ยากนัก