ยูเอ็น เผยแนวโน้ม ‘2020’ ติด 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้

2020-12-04 09:30:47

ยูเอ็น เผยแนวโน้ม ‘2020’ ติด 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้

Advertisement

เจนีวา, 3 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (2 ธ.ค.) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่าปี 2020 กำลังจะเป็น 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ ขณะที่ปี 2011-2020 เป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุด และปี 2015-2020 เป็นช่วง 6 ปีที่ร้อนที่สุดของโลก

รายงานขององค์การฯ ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลกปี 2020 (State of the Global Climate in 2020) ระบุว่าความร้อนของมหาสมุทรอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และมหาสมุทรมากกว่าร้อยละ 80 ทั่วโลกได้เผชิญคลื่นความร้อนทางทะเลเป็นครั้งคราวในปี 2020 ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2020 สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงปี 1850-1900 ราว 1.2 องศาเซลเซียส ทำให้ปี 2020 มีแนวโน้มจะเป็น 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดของโลก

เช่นเดียวกับคลื่นความร้อนบนบก ความร้อนสูงอาจส่งผลกระทบต่อชั้นใกล้พื้นผิวของมหาสมุทรในหลายระดับแตกต่างกัน เช่น เหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบร้ายแรง อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง เพลิงไหม้ พายุหมุนเขตร้อน เป็นต้น




ช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ยังเกิดปัญหาการพลัดถิ่นของผู้คนราว 10 ล้านชีวิต โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภยันตรายด้านปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa)

รายงานระบุว่าแม้จะมีการล็อกดาวน์เพื่อยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ทว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นอีกหลายชั่วอายุคน เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีอายุยาว



นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ยังเพิ่มระดับความเสี่ยงอีกขั้นต่อปฏิบัติการอพยพ การฟื้นฟู และการบรรเทาทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งหลาย

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และโครงการอาหารโลก (WFP) ระบุว่า ในปี 2020 ผู้คนกว่า 50 ล้านชีวิตได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและโรคโควิด-19 ขณะที่หลายประเทศในอเมริกากลางได้รับผลกระทบคูณสาม ทั้งจากพายุเฮอริเคน อีตา (Eta) และไอโอตา (Iota) ปัญหาโรคโควิด-19 และวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าภาวะถดถอยทั่วโลกในปัจจุบันอันเกิดจากโรคโควิด-19 กลายเป็นอุปสรรคต่อการออกนโยบายที่จำเป็นสำหรับการบรรเทาผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันก็ได้มอบโอกาสมากมายสำหรับการกำหนดเศรษฐกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติยิ่งขึ้น เพื่อ กระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่มีความยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



เพตเตรี ทาลัส (Petteri Taalas) เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า “น่าเสียดายที่ปี 2020 เป็นอีกปีที่เกิดปัญหาร้ายแรงด้านสภาพภูมิอากาศ เราได้เห็นอุณหภูมิที่พุ่งสูงครั้งใหม่ทั้งบนบก ในทะเล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาร์กติก … เราเห็นเฮอริเคนเกิดขึ้นหลายลูกเป็นประวัติการณ์ในมหาสมุทรแอตแลนติก … ทั้งยังเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำไปสู่การพลัดถิ่นของประชากรจำนวนมาก และบ่อนทำลายความมั่นคงด้านอาหารของผู้คนหลายล้าน”

“ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 5 ปีของข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเราชื่นชมการทำพันธะสัญญาโดยรัฐบาลของหลายๆ ประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากขณะนี้เรายังเดินผิดทางและทุกฝ่ายจำเป็นต้องพยายามมากขึ้น” ทาลัสกล่าวเสริม