รมช.พาณิชย์มอบ SACICT ส่งเสริมผลักดันผ้าทอพื้นถิ่นอีสาน

2020-11-30 09:50:58

รมช.พาณิชย์มอบ SACICT ส่งเสริมผลักดันผ้าทอพื้นถิ่นอีสาน

Advertisement

รมช.พาณิชย์ มอบหมาย SACICT เร่งอัพสกิล - รีสกิล ผู้ประกอบการหัตถศิลป์ไทย ชูการออกแบบและการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค พร้อมผลักดันงานผ้าทอไทยถิ่นอีสานพัฒนาให้เกิดเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งรองรับการตลาดยุคดิจิทัล และสถานการณ์การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังหมดโควิด-19 

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก รมว.พาณิชย์ ให้กำกับดูแลการดำเนินงานของ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและองค์ความรู้งานด้านศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านการยกระดับศักยภาพผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย และผู้ประกอบการงานคราฟต์ โดยการส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงการสนับสนุนด้านการตลาดและการขยายโอกาสให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จัก เพิ่มความนิยมผ่านช่องทางการขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมสามารถเติบโตและปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันในโลกยุคใหม่ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาภูมิปัญญาและรากของงานหัตถศิลป์ไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติให้คงอยู่คู่สังคมไทย ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้วงการศิลปหัตถกรรมไทย SACICT จึงได้จัดกิจกรรมการประชุมการจัดระดับศักยภาพและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสมาชิก SACICT ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2564 แก่กลุ่มของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเพิ่มพูนทักษะความสามารถเบื้องต้น ที่เป็นความต้องการของตลาดยุคใหม่นี้ ผ่านการอัพสกิลและรีสกิลของผู้ประกอบการ เป็นการเตรียม ความพร้อมในปี 2564 ภายหลังวัคซีนโควิด-19 ความหวังของการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น



“ผมให้ SACICT เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการหัตถศิลป์ไทย ผ่านการอบรมพัฒนา ด้านผลิตภัณฑ์และพัฒนาด้านการตลาด ทั้ง รีสกิล (Reskill) ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับโลกดิสรัปชั่นได้ ควบคู่ไปกับ อัพสกิล (Upskill) คือการต่อยอดทักษะในลักษณะ การผลิตแบบเดิมที่ทำอยู่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพเชิงช่าง ควบคู่ไปกับ การพัฒนารูปแบบและบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการขยายโอกาสทางการตลาด การเรียนรู้เรื่องการสื่อสารงานหัตถกรรมในสื่อออนไลน์ จุดเด่นของการรังสรรค์แบรนด์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนสนับสนุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ชิ้นงานและภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งในช่วงหลังจากนี้เมื่อผู้ประกอบการมีความรู้อย่างรอบด้าน สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดโลกได้ ในช่วงปี 2564 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายหรือหมดไป ก็นับเป็นโอกาสทองของ การส่งออกงานหัตถกรรมไทยอีกครั้ง” นายวีรศักดิ์ กล่าว



รมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า งานศิลปหัตถกรรมในหมวดงานผ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ที่ผ่านมา SACICT ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผ้าทอพื้นถิ่นมายาวนานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละชุมชนล้วนมี ภูมิปัญญาเฉพาะและมีเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของชุมชนนั้นๆ ผ่านการถักทอลวดลายอย่างประณีต งดงามจนกลายเป็นผ้าทอที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศมาแล้ว อาทิ นครราชสีมา ผ้าไหม – ผ้าไหมพิมพ์ลายปักธงชัย , บุรีรัมย์ ผ้าไหม – ผ้าไหมมัดหมี่ – ผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนแดง , สุรินทร์ ผ้าโฮล (ผ้ามัดหมี่ตามแบบวัฒนธรรมเขมร) ผ้าอัมปรม  ผ้าไหมยกทองบ้านท่าสว่าง , อุบลราชธานี ผ้ากาบบัว  ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด-จก  ผ้ายกดิ้นเงิน-ดิ้นทอง , ขอนแก่น ผ้ามัดหมี่  ผ้าไหมแต้มหมี่  ผ้าขาวม้า , กาฬสินธุ์ ผ้าไหมแพรวา , สกลนคร ผ้าย้อมคราม  ผ้ามัดหมี่ และนครพนม ผ้ามัดหมี่ เป็นต้น 




“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของภาคอีสาน ผลิตงานประเภทผ้าทอเป็นหลัก ดังนั้นในปี 2564 จึงมอบนโยบายให้เดินหน้าปั้นแบรนด์ผ้าทอพื้นถิ่นอีสาน ตั้งแต่การออกแบบ เช่นเรื่องของลายผ้า เทคนิคการย้อม ผสมผสานวัตถุดิบหลากหลายประเภทเพื่อพัฒนางานหัตถกรรมในรูปแบบใหม่ การนำงานที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม มาต่อยอดในด้านการออกแบบด้วยเทคนิคใหม่ๆ จากผ้าทอพื้นถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นร่วมสมัย ตลอดจนสามารถนำชิ้นงานเข้าไปจำหน่ายในอีคอมเมิร์ซ การสร้างสรรค์เรื่องราว เทคนิคการถ่ายภาพที่ทำให้สินค้าเป็นที่สนใจทั้งในแพลตฟอร์มของ SACICT เอง และตลาดออนไลน์ของภาคเอกชนที่มีศักยภาพ อาทิ Shopee ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการลงพื้นที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะสามารถสร้างความเข้าใจและ แรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการงานคราฟต์เกิดการพัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันได้” รมช.พาณิชย์ กล่าว