ปชช.หนุน"แพลทฟอร์มต่างชาติ"ช่วยสร้างสามัคคี

2020-11-29 16:50:43

ปชช.หนุน"แพลทฟอร์มต่างชาติ"ช่วยสร้างสามัคคี

Advertisement

ซูเปอร์โพล​ เผย​ ปชช.หนุน​ "แพลทฟอร์มต่างชาติ" ช่วยสร้างความสามัคคี​ ลบความขัดแย้งๅในไทย

เมื่อวันที่​ 29​ พ.ย.​ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง พลังบวก โซเชียลมีเดีย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,483 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า​ ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.2 ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิง รองลงมาร้อยละ 81.2 ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดตามข่าวสาร ร้อยละ 79.6 ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อสื่อสาร ทำมาหากิน ธุรกิจ การค้า และร้อยละ  76.2 ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการศึกษา ทำวิจัย ทำการบ้าน เรียนรู้เพิ่มเติม

ที่น่าพิจารณา​ คือ เมื่อถามถึง โซเชียลมีเดียต่างชาติที่ต้องการให้มาช่วยทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, CSR) ในประเทศไทยเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ความสงบสุขของคนในชาติ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 44.4 ระบุว่า​ ต้องการให้ เฟซบุ๊ก ช่วย รองลงมาร้อยละ 39.7 ระบุว่า ต้องการให้ ยูทูป ช่วย ร้อยละ 36.2 ต้องการให้ ทวิตเตอร์ ช่วย ร้อยละ 36.1 ต้องการให้ ไลน์ ช่วย ร้อยละ 36.1 เช่นกัน ต้องการให้ Tik Tok ช่วย และร้อยละ 35.4 ต้องการให้ ไอจี ช่วย​ ที่น่าสนใจ​ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.3 ต้องการเห็นพลังบวกของโซเชียลมีเดียต่างชาติ ทำให้คนไทยรักกัน มากกว่าตกเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกของคนในชาติ นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ระบุว่า ม็อบมีกลุ่มย่อยกลุ่มต่างๆ ที่มีความต้องการหลากหลายต่างกัน เช่น ม็อบที่จ้องทำลายสถาบันหลักของชาติ ม็อบที่ต้องการให้ รัฐแก้ปัญหาหลากหลาย เช่น ปฏิรูปการศึกษา ความเสมอภาค ความทุกข์ของชุมชนหนาแน่น ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ความต้องการสิทธิเท่าเทียมในกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ฯลฯ ในขณะที่ร้อยละ 9.4 ระบุ ม็อบมีความต้องการเหมือนกันหมด




ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ใช้เป็นพลังบวก โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในสิ่งดีที่กลุ่มโซเชียลมีเดียต่างชาติทำได้ถ้าจะทำให้คนในสังคมประเทศเล็กๆ แต่งดงามสักหนึ่งประเทศในโลกเกิดความรักความสามัคคีกัน เปลี่ยนจากความขัดแย้งที่กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตกลายเป็นสงบสุขด้วยสันติวิธี ภายใต้ “ยุทธการสูญเสียเป็นศูนย์” หรือทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดด้วยพลังบวกโซเชียลมีเดีย โดยฝ่ายอำนาจรัฐ (State Power) และฝ่ายที่ไม่มีอำนาจรัฐ (Non-State Power) สามารถร่วมกันเลือกใช้ทางที่เป็นไปได้ทำให้ม็อบสามารถแยกย้ายกลับบ้านได้ด้วยความสงบไม่สูญเสียได้แก่ 1) ตอบสนองความต้องการของม็อบทุกประการ (Mob Appeal) ที่แบ่งปันความสนใจผลประโยชน์ส่วนรวมหาจุดพอดีและตอบสนองทุกความต้องการของม็อบ 2) เลือกตอบสนองบางข้อของม็อบ (Mob Selective Appeal) ที่ม็อบจะแยกย้ายกลับบ้านได้เพราะความต้องการของแต่ละกลุ่มย่อยได้รับการตอบสนอง และทางเลือกที่ 3) คือ เงียบ ไม่ตอบสนอง (Silence)