“วัดศรีนครินทรวราราม” วัดไทยในสวิต เฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า

2017-10-21 15:35:18

“วัดศรีนครินทรวราราม” วัดไทยในสวิต เฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า

Advertisement


วันที่ 21 ตุลาคม 2560 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย  new18 จึงขอพาทุกท่าน บินลัดฟ้ามายังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่สมเด็จย่าทรงมีความผูกพันมากที่สุด 

ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีวัดแห่งหนึ่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยและชาวพุทธทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในประเทศแห่งนี้ โดยเป็นวัดสำคัญที่มีสถาปัตยกรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์  และที่สำคัญมากที่สุดก็คือ วัดแห่งนี้ เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

“วัดศรีนครินทรวราราม” เป็นวัดสาขาของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้รับพระราชทานนามเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) วัดศรีนครินทรวรารามตั้งอยู่ในเขตกึ่งอุตสาหกรรมกึ่งที่พักอาศัย ของหมู่บ้านเกรทเซ่นบาค (Gretzenbach) รัฐโซโลธูร์น (Solothurn) ซึ่งอยู่ใจกลางประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ทางตอนเหนือ วัดแห่งนี้มีพื้นที่ 3,401 ตารางเมตร (2 ไร่เศษ) อยู่ห่างจากนครซูริก (Zurich) ประมาณ 50 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเบิร์น (Bern) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ประมาณ 70 กิโลเมตร สมเด็จย่าได้พระราชทานพระราชทรัพย์แด่วัดไทยเป็น จำนวน 236,964 สวิสฟรังก์ เพื่ออุปถัมภ์บำรุง ต่อมาเจ้าอาวาสและคณะกรรมการสมาคมวัดไทยจึงได้เสนอขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้วัดนี้เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน โดยได้รับพระราชทานนามว่า “วัดศรีนครินทรวราราม” เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2536  


สถาปัตยกรรมของวัดมีความงดงามเฉกเช่นวัดวาอาราม ที่ก่อสร้างในประเทศไทย โดยก่อสร้างด้วยทีมงาน และนักจิตรกรจากประเทศไทย ตั้งตระหง่านโดดเด่น อยู่ในย่านชานเมืองห่างไกลที่แสนสงบ มีอากาศดีรมรื่น พระอุโบสถ ประกอบไปด้วยพระประธาน และจิตรกรรมฝาผนังลวดลายไทย ถ่ายทอดเรื่องราวของพระไตรปิฎก และ ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตชีวาของชาวไทย เพื่อให้ชาวต่างชาติ ได้เข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนา 

ที่วิจิตรสวยงามที่สุดคือ ด้านบนของประตูอุโบสถ เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ของสมเด็จย่า และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และช่วงเวลาที่ทั้งสองพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ สวิตเซอร์แลนด์  นอกจากนี้ยังมี พระรูปของสมเด็จย่า เพื่อให้ชาวไทยในสวิตได้ถวายสักการะอีกด้วย 

หลังจากสมเด็จย่าเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทางวัดได้จัดบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานสัตมวาร อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลทั้งในวาระทำบุญ 50 วันและ 100 วัน และในปีถัดมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานประกอบพิธีเปิด อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยมีการสร้างพระอุโบสถบนศาลาเอนกประสงค์ ซึ่งพระอุโบสถดังกล่าวทำให้วัดแห่งนี้มีองค์ประกอบครบสำหรับการเป็นวัด ศาลาเอนกประสงค์นี้ชั้นบนเป็นอุโบสถ ชั้นล่างเป็นห้องประชุม สามารถรองรับผู้ไปปฏิบัติกิจทางศาสนาได้ทุกโอกาส โดยดัดแปลงเป็นห้องเรียน 4 ห้อง กั้นด้วยผนังเลื่อน มีห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องเตรียมอาหาร ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน อาทิ การจัดการเรียนการสอนวิชาการด้านธรรมะให้แก่เยาวชน และการจัดค่ายธรรมะเยาวชน รวมทั้ง การสอนภาษาไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยในทุกวันอาทิตย์