เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : ข้อควรรู้เกี่ยวระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดี

2020-11-03 12:05:03

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : ข้อควรรู้เกี่ยวระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดี

Advertisement


บีบีซีไทย รายงาน

ผู้นำสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการกำหนดแนวทางรับมือวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศหลายอย่าง ทั้งสงคราม ภาวะโรคระบาด หรือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกจึงจับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กันอย่างใจจดใจจ่อ



ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 จะเป็นใคร นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง หรือนายโจ ไบเดน จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ไว้ที่นี่





เลือกตั้งเมื่อไหร่ แล้วผู้สมัครคือใคร

การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ จัดให้มีขึ้นทุก 4 ปี ในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน (ถ้าวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีนั้นเป็นวันอังคาร ให้ไปจัดวันที่ 8 แทน) ในปีนี้ตรงกับวันที่ 3 พฤศจิกายน

ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ต้องเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และมีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐฯ มาแล้ว 14 ปี

ระบบพรรคการเมืองของสหรัฐฯ เป็นแบบระบบสองพรรคหลักคือพรรคพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลและนโยบายในการบริหารประเทศของสหรัฐฯ นั้นค่อนข้างมีความแน่นอนและมั่นคง



พรรครีพับลิกัน เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Grand Old Party หรือ GOP ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคนี้ก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนปัจจุบัน ฐานเสียงของพรรคอยู่ตามเขตชนบทเป็นส่วนใหญ่

อดีตผู้นำสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันก็เช่น นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช, นายโรนัลด์ เรแกน และ นายริชาร์ด นิกสัน

ส่วนพรรคเดโมแครต เป็นพรรคเสรีนิยม ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคนี้ก็คือนายโจ ไบเดน ฐานเสียงของพรรคอยู่ตามเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่



อดีตผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ได้แก่ นายจอห์น เอฟ เคเนดี, นายบิล คลินตัน และ นายบารัก โอบามา

ทั้งนายทรัมป์และนายไบเดนต่างก็อายุเกิน 70 แล้ว หากนายทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เขาจะมีอายุ 74 ปี ตอนเริ่มครองตำแหน่งสมัยที่สอง หรือในทางกลับกัน นายไบเดนก็จะเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุดขณะดำรงตำแหน่งสมัยแรกในวัย 78 ปี



ชาวอเมริกันเลือกตั้งกันอย่างไร



กระบวนการเลือกประธานาธิบดีมีความสลับซับซ้อนพอสมควร รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กําหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยวิธีใช้คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) กล่าวคือประชาชนไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่เลือกผู้ที่จะทําการเลือกประธานาธิบดีแทนพวกเขา



ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ผู้เลือกตั้ง คณะผู้เลือกตั้ง ต่างกันอย่างไร

- ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง คือประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง แต่ตอนนี้หลายรัฐออกกฎหมายให้แสดงบัตรประจำตัวเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลถึงจะเลือกตั้งได้

พรรครีพับลิกันผลักดันกฎหมายนี้ โดยบอกว่าต้องทำแบบนี้เพื่อป้องกันการโกงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พรรคเดโมแครตแย้งว่า เป็นการกดขี่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งบางกลุ่ม เช่น คนจน หรือชนกลุ่มน้อย ซึ่งส่วนมากไม่มีเอกสารประจำตัวอย่างใบขับขี่มาแสดง ทำให้เสียสิทธิ์ในการเลือกตั้ง

วิธีการเลือกตั้งก็ไม่ต่างจากประเทศอื่น คือประชาชนเข้าคูหาไปกาบัตรในวันเลือกตั้ง หรือลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าหากไม่สะดวกในวันนั้น แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นที่นิยมมากขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2016 มีคนเลือกลงคะแนนทางไปรษณีย์ถึง 21%

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในปีนี้มีโรคโควิด-19 มาเป็นปัจจัยเสริม นักการเมืองหลายคนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการที่ประชาชนต้องเดินทางไปเขตเลือกตั้ง แต่นายทรัมป์ออกมาแย้งว่าการเลือกตั้งทางไปรษณีย์จะทำให้มีการโกงเลือกตั้ง

- ผู้เลือกตั้ง คือผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใดคนหนึ่ง แต่ละรัฐจะคัดเลือก "ผู้เลือกตั้ง" (Electors) รวมกันเป็น "คณะผู้เลือกตั้ง" (Electoral College) ซึ่งจะทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดีหลังวันเลือกตั้งทั่วไป

คนทั้งหมดนี้ต้องไม่มีตําแหน่งทางการเมือง และพวกเขาเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เพียงครั้งเดียวก็จะหมดหน้าที่ จึงไม่มีอิทธิพลทางการเมือง

แต่ละรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร โดยจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมาจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. บวกกับจำนวนวุฒิสมาชิก รัฐละ 2 คนเท่ากันหมดทุกรัฐ รวมทั้งหมดมี 538 คน นั่นหมายถึงว่าบรรดารัฐเล็ก ๆ ที่มีจำนวน ส.ส. เพียง 1 คน ก็จะมีคณะเลือกตั้งรวม 3 คน ดังนั้น รัฐที่มีจำนวนประชากรมากจึงมีความสำคัญมาก เพราะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คะแนนจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงแม้จะสำคัญ แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้ชะตาคือ คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง

แม้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคหนึ่งมากกว่าอีกพรรคเป็นแสน ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็นประธานาธิบดี ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะวิธีตัดสินผลเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างเฉพาะตัว

การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ใช้ระบบ Winner-Takes-All หรือผู้ชนะกินรวบ ระบบนี้ใช้กับ 48 รัฐ และเขตเมืองหลวง คือ วอชิงตัน ดี.ซี. เท่านั้น ส่วนอีก 2 รัฐ คือรัฐเมนกับรัฐเนบราสก้า ใช้ระบบสัดส่วน

คะแนนเสียงที่มาจากประชาชนกาบัตรเลือกตั้งให้ คือ คะแนนมหาชน หรือ Popular Vote แต่คะแนนเสียงที่เป็นตัวตัดสินแพ้ชนะ คือ คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral Vote

ที่เกริ่นไว้ว่าสหรัฐฯ ใช้ระบบ Winner-Takes-All นั้นหมายถึงว่า ผู้สมัครที่มีคะแนนมหาชนสูงกว่าในรัฐใดรัฐหนึ่งจะกวาดคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นไปทั้งหมด

สมมติว่ารัฐ ก. ไก่ มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 9 คน มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมาลงคะแนน 500 คน เปิดนับคะแนนมหาชนแล้ว พรรคเอได้คะแนนเสียง 300 คะแนน พรรคบีได้ 200 คะแนน หมายถึงว่าพรรคเอชนะในรัฐ ก. ไก่ ก็จะได้คะแนนเสียงผู้เลือกตั้งไปทั้ง 9 เสียง

เมื่อรวมคะแนนทุกรัฐ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 270 เสียงขึ้นไปก็จะได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมาก อย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส หรือฟลอริดา จึงเป็นรัฐที่ต้องขับเคี่ยวกันดุเดือด

หากแพ้คะแนนมหาชนเพียงคะแนนเดียวในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุด ก็เสียคะแนนจากคณะเลือกตั้งไปทั้ง 55 เสียง ซึ่งทำให้เกมเปลี่ยนมือได้ทันที ทั้งสองพรรคจึงต้องพยายามกวาดคะแนนในรัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งมากเข้าไว้

กรณีที่ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพ่ายคะแนนมหาชนแต่กลับได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯ เคยเกิดมาหลายครั้งแล้ว อย่างการเลือกตั้งในปี 2000 ซึ่งนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากรีพับลิกันได้คะแนนมหาชน 50,456,002 เสียง ในขณะที่นายอัล กอร์ จากเดโมแครตได้ 50,999,897 เสียง แต่คะแนนเสียงจากคณะเลือกตั้งอยู่ที่ 271 ต่อ 266 เสียง นายบุชจึงชนะเลือกตั้ง ทั้งนี้ คะแนนเสียงรวมบวกกันได้ 537 เสียง หายไปเสียงหนึ่ง เพราะผู้เลือกตั้งในเมืองหลวง 1 คน ของดออกเสียง

ในทางหนึ่งก็มองได้ว่า ประธานาธิบดีไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง



เราจะรู้ผลการเลือกตั้งเมื่อไร

หลังสิ้นสุดการนับคะแนนทั้งหมดในวันเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนแล้ว ในเดือนธันวาคม คณะผู้เลือกตั้งจะประชุมพร้อมกันในรัฐของตนเองและลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดี กับรองประธานาธิบดีบนบัตรเลือกตั้งที่แยกกัน ในปีนี้กำหนดให้เป็นวันที่ 14 ธันวาคม

จากนั้นภายใน 9 วัน ต้องส่งผลเลือกตั้งไปยังประธานวุฒิสภาซึ่งก็คือรองประธานาธิบดี และนักจดหมายเหตุ

ถัดมาก็เป็นการนับคะแนนอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มกราคม ปีถัดจากปีเลือกตั้ง โดยประธานวุฒิสภาเป็นประธานการนับคะแนนในการประชุมสภาคองเกรส และประกาศชื่อผู้ชนะเลือกตั้ง แต่หากนับคะแนนแล้วไม่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้คะแนนอย่างน้อย 270 เสียง สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินผู้ชนะการเลือกตั้ง และกรณีเดียวกันของผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี วุฒิสภาจะเป็นผู้ตัดสิน

แต่ในความเป็นจริงเมื่อนับผลคะแนนมหาชนในวันเลือกตั้งทั่วไปเสร็จ ภายในเช้าวันถัดมาก็สามารถรู้แล้วว่าใครชนะเลือกตั้ง อย่างคราวที่แล้วนายทรัมป์ก็ขึ้นเวทีปราศรัยที่นครนิวยอร์ก ตั้งแต่ตอนตี 3 เพื่อประกาศชัยชนะต่อหน้ากลุ่มผู้สนับสนุน

และขั้นตอนสุดท้าย คือการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในเวลาเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกจะเข้าพิธีสาบานตนและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ขั้นบันไดหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันดีซี ก่อนจะเดินทางเข้าทำเนียบขาวเพื่อเริ่มภารกิจผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ